สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิด 5 มุมมองที่ช่วยให้ผู้นำของเมืองเล็งเห็นความสำคัญของความเท่าเทียม

บทความ 3 สิงหาคม 2564 2,528

เปิด 5 มุมมองที่ช่วยให้ผู้นำของเมืองเล็งเห็นความสำคัญของความเท่าเทียม


ในหลายปีที่ผ่านมา มีผู้นำของเมืองมากมายที่เริ่มหันมามีส่วนร่วมกับ “สาธารณะชน” เพิ่มมากขึ้น โดยริเริ่มเปิดรับฟังแนวความคิดและประสบการณ์ชีวิตที่ผู้คนได้พบเจอ แล้วนำมาผลักดันให้เกิดการออกแบบที่เน้น “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง อันก่อให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมกันในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ สมาคม Bloomberg จึงได้เชิญ Antionette Carroll ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบด้านความเท่าเทียมมาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์การทำงานของเธอกับเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมในเครือข่าย Bloomberg Cities โดย Carroll เป็นผู้ก่อตั้ง Creative Reaction Lab ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองเซนต์หลุยส์ ที่มีบทบาทในการฝึกอบรมและทำงานร่วมกับเยาวชนในการท้าทายความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและสุขอนามัยที่ส่งผลกระทบต่อชาวผิวดำและชาวละติน อีกทั้ง Carroll ยังเป็นโค้ชในโปรแกรม Bloomberg Philanthropies Innovation Training ซึ่งทำงานร่วมกับทีมในเมืองออโรรา รัฐอิลลินอยส์ โดยพวกเขาได้สร้างเส้นทางอาชีพใหม่แก่ผู้อยู่อาศัยชาวผิวดำและชาวละตินดังกล่าว

Carroll ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนที่เคยถูกมองข้าม โดยไม่ใช่เพียงแค่รับฟังพวกเค้า แต่ต้องลงมือทำมันด้วย” และ เช่นเดียวกับระบบทั้งหมด ระบบการกดขี่ ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำล้วนเกิดจากการออกแบบทั้งสิ้น" “ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงสามารถออกแบบใหม่ได้

ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นสิ่งที่สภาเมืองหลายแห่งให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เมืองเดอร์แฮม รัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้สร้างโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงระบบที่เท่าเทียมมากขึ้น ขณะที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ได้ออกแบบร่วมกันเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านและกลุ่มคนที่เคยใช้ชีวิตแบบคนเร่ร่อน

รวมถึง Stephanie Wade หัวหน้าโครงการนวัตกรรมจากสมาคม Bloomberg ได้กล่าวว่า “ในอดีต เหล่านวัตกรคิดว่าการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์นั้น จะสร้างผลลัพธ์ที่ยุติธรรมได้ เนื่องจากต้องอาศัยการคิดสร้างสรรค์ร่วมกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเพื่อสร้างให้เกิดแนวคิดใหม่ที่ช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตของพวกเขา”  “แต่เราได้เรียนรู้ว่า แม้ด้วยความตั้งใจที่ดี สิ่งนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในระดับที่ควรจะเป็น การพึ่งพากระบวนการออกแบบที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้นไม่เพียงพอ เราจึงต้องตั้งใจที่จะสร้างความเท่าเทียมผ่านงานของเรา หากเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายให้เกิดขึ้นในสังคม” Wade กล่าว

โดย 5 มุมมองที่สำคัญที่ Carroll แนะนำแก่ผู้นำของเมือง มีดังนี้

1. สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้

เนื่องจากหัวใจสำคัญของงานคือความเท่าเทียม ดังนั้น ผู้นำของเมืองจึงจำเป็นที่จะต้องเต็มใจที่จะเรียนรู้ปัญหาจากมุมมองของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่ตื่นเต้น แปลกใหม่ หรือน่าหวาดกลัวเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะหนทางในการสร้างความเท่าเทียมเกิดจากมุมมองดังกล่าว ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียมและความทั่วถึงเองยังจำเป็นต้องเรียนรู้ประเด็นปัญหาใหม่ ๆ อยู่เสมอ

2. ลงทุนสร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชนดีกว่าสร้างความแตกแยก 

เพราะการวิจัยอาจก่อให้เกิดทั้งคุณค่าและปัญหาต่อพื้นที่ ดังนั้น ในงานที่มุ่งเน้นส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ผู้นำของเมืองจึงควรลงทุนเวลาในการสร้างความไว้ใจกับผู้คนในชุมชน และมีเป้าหมายการทำงานที่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ของงานเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น การพูดคุยถึงข้อมูลที่มีความถูกต้อง มีความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือจะช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีกับชุมชนได้

3. ให้ความสำคัญกับภาษาที่ใช้สื่อสาร 

ผู้นำของเมืองต้องเข้าใจถึงความหมายและความแตกต่างของคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “ความหลากหลาย” “ความทั่วถึง” และ “ความเท่าเทียม” ซึ่งในที่นี้ “ความหลากหลาย” จะหมายถึง กลุ่มคนที่จะถูกเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในการทำงาน “ความทั่วถึง” หมายถึง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้ร่วมทำงาน “ความเท่าเทียม” หมายถึง ทุกคนสามารถเข้าถึงงานวางไว้ และสุดท้าย “ความเสมอภาค” หมายถึง การได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

การทำความเข้าใจถึงความหมายของคำที่แตกต่างกันเหล่านี้ จะช่วยให้การสื่อสารถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขเป็นภาพเดียวกันได้ชัดเจนขึ้น โดย Carroll ได้ยกตัวอย่างโครงการที่องค์กรของเธอดำเนินการด้านสุขภาพในกลุ่มเยาวชนผิวสีไว้ว่า สิ่งแรกที่พวกเขาทำร่วมกันคือการให้คำจำกัดความของคำศัพท์ที่ใช้ตลอดทั้งโครงการ เพราะเมื่อพวกเขาพูดถึง 'อาหารเพื่อสุขภาพ' หรือ 'ความยุติธรรมด้านอาหาร' คำจำกัดความเหล่านั้นจะช่วยตีกรอบความเข้าใจร่วมกันได้ชัดเจนขึ้น

4. การไม่เอาตนเองเป็นใหญ่

การเปิดใจผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นส่วนประกอบที่ช่วยให้การออกแบบที่เน้นผู้คนเป็นศูนย์กลางประสบความสำเร็จ ผู้นำของเมืองควรเปิดใจพิจารณาอัตลักษณ์ ค่านิยม อคติ สมมติฐาน และมองข้ามความสัมพันธ์กับอำนาจตลอดจนสิทธิพิเศษ ที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการมีส่วนกับชุมชนที่ทำงานด้วย

5. สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ 

บ่อยครั้งที่กระบวนการออกแบบเริ่มต้นด้วยการพยายามทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือในขั้นตอนแรกคือต้องทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาที่เป็นอยู่ ยกตัวอย่างของผู้นำเมืองบอสตันที่วางแผนกลยุทธ์ด้านการปรับตัวของเมือง พวกเขาตระหนักว่าจำเป็นต้องพิจารณาประวัติศาสตร์ของเมืองเสียก่อน ซึ่งถึงแม้ว่าเมืองนี้จะมีสินทรัพย์ทั้งในด้านประชากรที่มีการศึกษาสูง มีเศรษฐกิจที่แข็งแรง และมหาวิทยาลัยระดับโลกตลอดจนสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในอดีตเมืองนี้มีประวัติของการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งขัดขวางความเจริญรุ่งเรืองของสินทรัพย์ที่มีอยู่เหล่านี้ แต่ภายหลังจากประกาศแนวคิดก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ ความเท่าเทียมกันทางสังคม และกุญแจสำคัญในการปรับตัวของเมือง เมืองได้เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยหลายพันคนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการในการรับฟัง การเข้าถึง และมุ่งเน้นด้านความเท่าเทียมทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน กระบวนการของเมืองบอสตันจึงได้กลายเป็นต้นแบบในการวัดความสำเร็จด้านการพัฒนาความเท่าเทียมของผู้อยู่อาศัยในเมืองให้แก่หลายเมืองทั่วโลก


แหล่งที่มา
https://bloombergcities.jhu.edu/news/5-insights-help-city-leaders-stay-focused-equity

โดย เธียรวนันต์ จอมสืบ
       นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)