สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสทุน หนุนผู้ประกอบการภูมิภาค

13 ธันวาคม 2566 1,842

ก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสทุน หนุนผู้ประกอบการภูมิภาค 


🚀 เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินและเริ่มจะคุ้นชินกับคำว่า “SMEs” และ “Startup” กันแล้ว ซึ่งในระยะที่ผ่านมาจำนวนของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอไป เพราะยังมีเรื่องของคุณภาพและศักยภาพที่ต้องส่งเสริมควบคู่กัน รวมถึงประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งเครื่องพัฒนาอย่างเรื่องการผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในระดับภูมิภาค เพื่อก้าวข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเจริญแบบกระจุก 

จึงเป็นที่มาของ “Regional Innovation Business Platform” แพลตฟอร์มการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมรายภูมิภาค ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมให้เป็นไปได้จริงยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่เท่านั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพราะมีสัดส่วนการจ้างงานในระดับชุมชนสูงถึง 71.7%  เลยทีเดียว

💪 นอกจากนี้ NIA ยังมีการปรับเพิ่มกลไกทุนให้สอดรับกับบริบทโลก ที่ปัจจุบัน นักลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่ม VC ส่วนมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มหันมาลงทุนกับการเติบโตของสตาร์ทอัพในระยะ Seed และระยะ Series A มากกว่าเดิมถึง 41%  เพื่อจะเสริมศักยภาพผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมของไทย ให้ก้าวทันตลาดการแข่งขัน ภายใต้ 4 กลไกสำคัญ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน!


🎯 มาเริ่มกันที่ กลไกการสนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับสตาร์ทอัพและ SMEs ไทยในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพของประเทศอย่าง First S-curve และนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ในอนาคตกับ New S-Curve ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน

🧮 โดย Open Innovation ภายใต้การปรับโฉมทุนใหม่ จะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาและนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชิงพาณิชย์ มาทดสอบการใช้งานกับกลุ่มลูกค้าจริง ทดสอบกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และทดสอบตลาดโดยการจำหน่ายจริงเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ ซึ่งเปิดรับใน 3 กลุ่มสาขาเศรษฐกิจ ได้แก่ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) สาขาเศรษฐกิจการผลิตและการหมุนเวียน (Manufacturing and Circular economy) และสาขาเศรษฐกิจบริการและแบ่งปัน (Service and Sharing Economy)

💰 สำหรับการสนับสนุนจะเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาท ต่อโครงการในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 


👤💵 ถัดมาคือ กลไกใหม่แกะกล่องอย่าง กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validation) ที่ NIA เล็งเห็นถึงความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายผลทางธุรกิจ ด้วยการแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ ไปจนถึงต่างประเทศ 

📈 เนื่องจากการขยายตลาด ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครขอทุนประเภทนี้จึงจะต้องมีนวัตกรรมที่ขายเชิงพาณิชย์แล้ว และต้องการเปิดตลาดใหม่หรือลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยต้องอธิบายความเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นในกรณีที่ไม่เคยขอทุนกับ NIA มาก่อน แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่เคยได้รับทุนสนับสนุนภายใต้กลไก Open Innovation มาแล้วสามารถเน้นข้อมูลกลุ่มลูกค้าหรือตลาดใหม่ที่ต้องการขยายได้เลย!

💰สำหรับการสนับสนุนจะเป็นทุนให้เปล่า (Grant) แบบอุดหนุนบางส่วน (Matching Fund) สนับสนุนเงินทุนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี


💸 อีกกลไกทุนใหม่ภายใต้ Regional Innovation Business Platform ก็คือ กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Matching Interest for Working Capital) สำหรับผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค

📊 แม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังต้องมีการดูแลด้านสภาพคล่องทางการเงินให้ดี แล้วยิ่งกับสตาร์ทอัพและ SMEs สิ่งนี้ยิ่งมีความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้การบริหารเงินภายในสะดุด โดยผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับการสนับสนุน จะต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดหรืออยู่ในตลาดเรียบร้อยแล้ว และต้องการเพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน ซึ่งหมวดค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนจะมี ดอกเบี้ยสินเชื่อทุกประเภท ค่าธรรมเนียมค้ำประกันจาก บสย. และดอกเบี้ยที่เกิดจากการระดมทุน Crowdfunding

💰สำหรับการสนับสนุนจะเป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน (Matching Grant) สนับสนุนเงินทุนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 75 ของมูลค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี


🎉กลไกสุดท้าย นั่นก็คือ กลไกนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย (Zero Loan Interest) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในรายภูมิภาคสามารถกู้เงิน เกิดการลงทุนเพิ่มผ่านกลไกสินเชื่อธนาคารได้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย

⚙ โดยการทำงานของกลไกนี้ จะต่างจากเดิมตรงที่เป็นการสนับสนุนเพื่อการขยายธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์หรือการขยายตลาด หมวดค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนจะเป็น ดอกเบี้ยสำหรับขยายธุรกิจนวัตกรรม เช่น การปรับปรุงสถานที่ผลิต เครื่องจักรต่างๆ โดยเป็นความร่วมมือของ NIA กับสถาบันการเงินชั้นนำจำนวน 5 แห่ง ซึ่งจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อในโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

💰สำหรับการสนับสนุนจะเป็นทุนอุดหนุน (Grant) ที่ สนับสนุนเงินทุนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 100 ของมูลค่าดอกเบี้ย คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อโครงการ ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

ผู้ประกอบการที่สนใจ #ขอทุนNIA สามารถดูขั้นตอนและข้อแนะนำการลงทะเบียนขอทุน ได้ที่ 
https://www.nia.or.th/MIS-Register 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.nia.or.th/new-financial-support-grant-mechanism-2023 
https://open.nia.or.th/prregionalinnovationbusinessplatform 
https://www.thaipost.net/all-news/388225/ 
https://www.techinasia.com/sea-venture-capital-funding-declines-25-h1-2023-report