สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

4 trips มุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน

28 กันยายน 2567 1,995

4 trips มุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน 


หลายครั้งที่ “นวัตกรรม” ถูกยกมาเป็นคำตอบทางกลยุทธ์ขององค์กรส่วนใหญ่ที่คาดหวังจะสร้างทางรอดและการเติบโตให้กับธุรกิจ แต่การจะพัฒนานวัตกรรมในองค์กรเพื่อก้าวสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน” ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นไม่ง่าย 

🧑‍💼 NIA ภายใต้บทบาทของการเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม “Focal Conductor” จึงได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรและสนับสนุนให้องค์กรก้าวสู่การเป็น องค์กรนวัตกรรม ผ่าน Innovative Organization Program (IOP) หรือโครงการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร โดยมีกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจ การประเมินศักยภาพ และการให้แนวทางที่เหมาะสมตามบริบทที่แตกต่าง ภายใต้กรอบการพัฒนาตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ ระดับปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนให้องค์กรเกิดการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน 

🤝 นอกจากนั้น  NIA ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหลากหลายองค์กร ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็น “Innovative Organization” หรือองค์กรนวัตกรรมได้สำเร็จ เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและการเสวนาพิเศษในโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับกิจกรรมการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “FUTURE READY Organization for Sustainable Innovation” ที่จัดขึ้นในงาน Startup X Innovation Thailand Expo 2024 (SITE 2024) ซึ่งเป็นการเสวนาที่ได้อัปเดตเทรนด์ความรู้ “การพัฒนานวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กร” 

เกิดเป็น 4 Tips สำหรับการพัฒนาสู่ “องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน” ที่สรุปได้จากมุมมองและประสบการณ์ของ 3 องค์กรนวัตกรรมอย่าง SCB DataX, Banpu และ INNOPOWER

🎯 1. Set & Checkup Strategic Plan กำหนดเป้าหมายและแผนกลยุทธ์ให้ชัดเจน พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบและวัดผลอยู่เสมอ!! 
การพัฒนานวัตกรรมในองค์กรจำเป็นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและวางแผนกลยุทธ์ให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจที่ตรงกันของคนทำงานทุกระดับ ที่สำคัญจะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และวัดผลอยู่เสมอว่าแผนกลยุทธ์นั้นยังเหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ตัวอย่างกรณีศึกษาจากองค์กรนวัตกรรมอย่าง ‘Banpu’ ซึ่งมีแนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยใช้นวัตกรรมที่มาจากพนักงาน ผ่านการเสนอแนวคิด วิธีแก้ปัญหา เพื่อนำไปสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ โดยมีการจัดตั้ง Innovation Committee เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม และเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำจริง เคล็ดลับของการขับเคลื่อนอยู่ที่การระบุแนวทางในการวัดผล ซึ่ง KPI จะถูกกำหนดตาม Level ของตำแหน่งงาน ที่จะมีผู้บริหารทำเป็นแบบอย่าง ให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

🧠🦾 2. เสริมทัพให้องค์กรปังด้วย ‘Expert & Intelligent’ ผู้เชี่ยวชาญมีทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นมนุษย์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
นวัตกรรมในองค์กรจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยทั้ง “คนและเครื่องมือ” นอกจากการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้เป็น Expert แล้ว การดึงดูด Talent หรืออาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะตามขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรมสักหนึ่งโปรเจกต์ อาจมีองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีบางอย่างที่คนในไม่รู้ไม่ถนัด การเปิดกว้างรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกหรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่องค์กรนวัตกรรมใช้กัน ซึ่ง SCB DataX เห็น Paint Point นี้ จึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยธุรกิจในการดึงข้อมูลเชิงลึก จาก Big Data มาใช้งานสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

💡3. ‘Innovation Driven Culture’ องค์กรต้องปรับตัวเพื่อเติบโต สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ เปลี่ยนให้ทัน (ยอม)ทิ้งให้เป็น
สิ่งสำคัญของการเป็น “องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน” คือ องค์กรนั้นจะต้องมี ‘Innovation Culture’ หรือวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กร เปิดพื้นที่ให้พนักงานได้กล้าคิด กล้าเสี่ยง เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะที่องค์กรคอยสนับสนุนเครื่องมือ ทรัพยากร และสร้างระบบการทำงานที่เอื้อให้พนักงานได้ออกนอกกรอบ ซึ่งพนักงานเองก็จะต้องเรียนรู้ให้เร็ว ปรับตัวให้ทัน และ(ยอม)ทิ้งให้เป็น เพราะกับดักอย่างหนึ่งของคนทำนวัตกรรมคือ เสียดายสิ่งที่คิดและทำขึ้นมาแล้วแม้ในวันนี้มันจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ดังนั้นทักษะการเรียนรู้อย่าง ‘Learn-Unlearn-Relearn’ การเรียนรู้สิ่งใหม่ (Learn) การไม่ยึดติดกับความรู้เดิม (Unlearn) และการเรียนสิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ (Relearn) จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาคนและองค์กรนวัตกรรม 

♻️ 4. Sustainability วาระสำคัญระดับโลกที่ต้องทำ! เพื่อมุ่งสู่องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน
ในยุคที่เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องเดียวที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจแต่ “สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน” กำลังเป็นประเด็นที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ อย่างที่ INNOPOWER บริษัทนวัตกรรมพลังงาน ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 พันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงเทรนด์การลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งกลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมี Sustainability Index ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ใช้เกณฑ์ผลการดำเนินงานตามหลัก ESG มาป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาประเมินและคัดกรองบริษัท ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งปัจจุบันก็มีนวัตกรรม Climate Tech หรือ Carbon Management Platform ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้

🚀 องค์กรที่จะประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรมต่อเนื่อง ในรูปแบบของแผนการดำเนินการที่ไม่ได้ลงแรงแค่ชั่วคราว แต่ต้องให้น้ำหนักการลงทุนกับเวลา และความพยายามในระยะยาว ผ่านการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ชัดเจนพร้อมติดตามและวัดผลอยู่เสมอ การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม เปิดพื้นที่สร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหา สร้างรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG เพื่อมุ่งสู่องค์กรนวัตกรรมที่ยั่งยืน องค์กรที่อยากเริ่มต้นอย่ารอช้า สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อขอคำแนะนำกับ NIA ได้แล้ววันนี้! ที่ https://iop.nia.or.th/ 

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.facebook.com/NIAThailand/videos/1008529920454139 
https://academy.nia.or.th/site/iop-2/ 
https://www.banpupower.com/sustainability/governance/process-improvement-and-innovation/ 
https://www.scbx.com/th/news/chat-with-your-data-scb-datax/