สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Chief Innovation Officer หัวเรือหลักในการขับเคลื่อน "นวัตกรรมในองค์กร" ให้เกิดขึ้นจริง

9 กันยายน 2566 1,834

Chief Innovation Officer หัวเรือหลักในการขับเคลื่อน "นวัตกรรมในองค์กร" ให้เกิดขึ้นจริง



👥🎯 เมื่อ ‘นวัตกรรมองค์กร’ คือทางรอดและโอกาสทองของการสร้างธุรกิจ

จะขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง ต้องมีผู้นำในการตั้งเป้าหมาย ผสานความร่วมมือ สร้างแผนการทำงาน และคนๆ นั้นคือ “Chief Innovation Officer” หรือ CIO

ในยุคนี้ ที่สภาพแวดล้อมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นวัตกรรมจึงกลายมาเป็นทางรอดและโอกาสทองของธุรกิจ ทำให้องค์กรต่างๆ มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในองค์กรเพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน โดยจำเป็นจะต้องมีหัวเรือหลักสำคัญอย่าง CIO ผู้นำที่คอยกำหนดทิศทาง ประสานความร่วมมือทั้งฝ่ายบริหารและทีมทำงานให้นวัตกรรมในองค์กรเกิดขึ้นจริงได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ NIA อยากชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จักบทบาทหน้าที่ของ CIO หรือ Chief Innovation Officer

คงไม่แปลกถ้าเราจะตีความกันว่าบุคคลนี้ จะต้องเป็น Talent เก่งๆ หรือเป็นผู้สร้างนวัตกรรมขึ้นมาเอง ตามคำว่า Innovation ในชื่อตำแหน่ง แต่จริงๆ แล้วบทบาทหลักของ CIO คือ “การจับทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กร” ที่ต้องคอยเป็นแมวมอง สังเกตแนวโน้มต่างๆ ด้วยการรับข้อมูลจากแผนกต่างๆ และนำมา “พัฒนากระบวนการทำงาน” ให้เกิดเป็นแผนปฏิบัติที่เป็นไปได้จริง รวมถึง CIO ยังต้องไม่ลืมที่จะคอย “ติดตามกระบวนการทำงาน” เพื่อให้การขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรสำเร็จตามเป้าหมาย  

จากบทบาทที่พูดถึงไป นำมาสู่ 3 ขั้นตอนการทำงานของ CIO ซึ่งเริ่มจาก Strategic Thinking หรือการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะเน้นไปที่การวิเคราะห์เป้าหมาย มองหาโอกาสและความท้าทายต่างๆ ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำมาสร้างทางเลือกที่เหมาะสม ทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่มีองค์ความรู้ในเชิงกลยุทธ์ เช่น ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล ฝ่ายการมองภาพอนาคต หรือแม้แต่ฝ่ายขายที่มีข้อมูลลูกค้าที่อยู่ในมือ หรือข้อมูลเทรนด์ด้านต่างๆ ที่บอกได้ว่าผู้บริโภคกำลังสนใจอะไรอยู่ 

ต่อมาคือ Creativity  ค้นหาและเก็บสะสม พัฒนาออกมาเป็นไอเดียที่จะจ่ายให้คนในองค์กรไปทำต่อ ซึ่งเวลานึกถึงความคิดสร้างสรรค์ หลายคนก็อาจคิดว่าต้องเป็นแนวคิดที่หลุดกรอบ หรือต้องเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครคิดได้ แต่ความจริงแล้ว CIO สามารถเริ่มฝึกฝนจากการศึกษาของคนหรือองค์กรอื่นๆ แล้วนำมาปรับเข้ากับบริบทของตัวเอง คล้ายกับการทดลองเพื่อผสมผสานแนวคิดขึ้นมา ว่าหากนำมาใช้งานจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจะออกมาหน้าตาประมาณไหน แตกต่างจากวิธีการเดิมๆ ที่องค์กรทำอยู่เป็นประจำอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนสุดท้าย คือ Development หรือนำแผนไปปฏิบัติจริงจากสิ่งที่วางไว้ ซึ่ง CIO มีหน้าที่กำหนดบทบาทของทีมที่จะเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรม โดยในขั้นตอนนี้ CIO จำเป็นต้องพึ่งพา Technical Team ที่สามารถบอกได้ว่าการจะสร้างผลลัพธ์ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องทำอะไร ใช้ใครบ้าง และคอยติดตามผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การลงมือทำเองทั้งหมด แต่จะต้องสื่อสารสิ่งที่คิดกับทีมให้ชัดเจน เข้าใจเป้าหมายตรงกัน เชื่อว่าการพัฒนานวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้จริง เพื่อทุกคนจะได้ไปดำเนินงานได้อย่างไม่ผิดพลาด 

จะเห็นว่าภายใต้การทำงานของ CIO ไม่ได้เกิดจากการวางเป้าหมายหรือคิดหาวิธีได้ด้วยตัวคนเดียวเท่านั้น แต่ CIO ยังต้องเป็นผู้นำที่รับผิดชอบในการสร้างความร่วมมือ กระตุ้นให้คนในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนานวัตกรรมองค์กรให้เกิดขึ้นจริง โดยใช้ทักษะที่สำคัญคือ “การสื่อสาร” เพื่อสร้างทีมที่สามารถคิดได้ ทำได้ สื่อสารสิ่งที่คิดให้คนอื่นเข้าใจได้ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารว่าสิ่งที่เรากำลังนำเสนอนั้นสามารถพัฒนาออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้คนในองค์กรนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมไปถึงสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างผลตอบแทนให้กับองค์กรเพิ่มขึ้นได้

แน่นอนว่า NIA เล็งเห็นความสำคัญของ CIO หรือ Chief Innovation Officer ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างองค์กรนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังจะเปิดตัว “หลักสูตร Chief Innovation Officer Program หรือ CIOP” เร็วๆ นี้ หากผู้นำองค์กรท่านใดที่สนใจร่วมขับเคลื่อนองค์กรไทยให้เติบโตไปด้วยกัน ติดตามเพจ NIA ไว้ จะได้ไม่พลาดข้อมูลการรับสมัครที่กำลังจะมาถึง! 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://academy.nia.or.th/ 
https://moocs.nia.or.th/