สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
Green Finance เทรนด์การเงินกู้โลกเดือด ตัวช่วยในวันที่สถานการณ์ Climate Tech แปรปรวน
♨ UN ประกาศเตือน! สิ้นสุดช่วงเวลาของภาวะโลกร้อน เพราะปัจจุบันคือยุคแห่ง “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ซึ่งเริ่มแล้วตั้งแต่ปี 2023
🌡 อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กลายเป็นวาระด่วนที่ประชาคมโลกต่างตื่นตัว รวมถึงประเทศไทยที่ได้มีการวางเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Net Zero ในปี 2050 ปลายทางนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกัน รวมถึงภาคธุรกิจที่จะเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการลดปัญหา ตามแนวคิดในการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งธุรกิจที่จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในสมการนี้ก็คือ ธุรกิจด้าน Climate Tech
📈 จากรายงานของ StartUs Insights Discovery ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าของธุรกิจ Climate Tech ในปี 2024 เติบโตขึ้นมากถึง 4.52% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการปิดรอบการระดมทุนไปกว่า 8,100 ครั้ง โดยมีเม็ดเงินหลั่งไหลอยู่ที่ประมาณ 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหากเจาะเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกจะเห็นว่า ธุรกิจที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน คือ ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด การดักจับคาร์บอน และระบบเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) ที่หันมาให้ความสำคัญกับเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
🚨 แม้จะมีตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจเหล่านี้กลับยังเผชิญกับความท้าทายด้านการเงิน โดยเฉพาะทุนเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมและการขยายตลาด เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และส่วนใหญ่กว่าธุรกิจจะเติบโตไปถึงระดับที่สามารถสร้างผลกำไรได้ต้องใช้เวลานาน ปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยง จนทำให้เกิดช่องว่างทางการเงินมากถึง 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นธุรกิจต้องมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้ตรงความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่น รวมไปถึงต้องมองหา Specialized Funding ที่เข้าใจรูปแบบการพัฒนาธุรกิจด้าน Climate Tech โดยเฉพาะด้วย
🌱💰 ความท้าทายนี้มีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดหนึ่งเทรนด์มาแรง นั้นก็คือ “Green Finance หรือการเงินสีเขียว” เครื่องมือของโลกการเงินที่จะช่วยเพิ่มกระแสการเงิน ไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนเพื่อไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเติบโตของ Green Finance เกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดยหากดูจากมูลค่าการส่งออก ESG Bond หรือตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ซึ่งออกครั้งแรกเมื่อปี 2019 มูลค่าการส่งออกมีการเติบโตต่อเนื่องจาก 23,000 ล้านบาท เป็น 214,029 ล้านบาทในปี 2022 ซึ่งถือว่าขยายตัวไปถึง 9 เท่าในช่วงเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น
🤝 หลายๆ ปัจจัยชี้ให้เห็นว่า อนาคตของ Climate Tech ยังเติบโตต่อไปได้อีกมากหากได้รับการสนับสนุน NIA ในบทบาท Focal Conductor หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมที่เชื่อมโยงการสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้นวัตกรรมเพื่อสังคม จึงให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 25 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
🌎 อีกทั้งในปีนี้ NIA ยังเร่งเพิ่มศักยภาพของธุรกิจนวัตกรรมด้าน Climate ผ่านโครงการ "Climate Tech Acceleration" ซึ่งต้องการมุ่งเน้นขยายโอกาสและร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของตลาด พร้อมส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพ โดยเชื่อมโยงการทำงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน และหน่วยงานจากต่างประเทศ
🧑💼 โดยที่ผ่านมาได้เปิดรับสตาร์ทอัพเพื่อมาเข้าร่วมโครงการ จนในที่สุดก็ได้ 5 บริษัทที่สามารถผ่านเข้ารอบ มาเข้าร่วมโครงการอบรมบ่มเพาะ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. T-Smart ระบบการจัดการและควบคุมพลังงานอัจฉริยะในอาคารและโรงงาน โดยใช้แพลตฟอร์ม AIoT เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน (https://www.tie-smart.co.th)
2. Alive Loop นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (https://aliveloop.com)
3. Nano Coating Tech นวัตกรรมสารเคลือบขนาดนาโนป้องกันน้ำและฝุ่นสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ (https://www.nanocoatingtech.co.th)
4. CERO แพลตฟอร์มแสดงปริมาณการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลและการลดคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ในการคำนวณ (https://www.cero.org)
5. Top Engineering ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและจัดทำรายงานจากเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการสำรวจทางอากาศด้วยโดรนสำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และงานสำรวจอื่นๆ (https://www.top-engcorp.com)
🔥 ผลกระทบของภาวะโลกเดือดที่ทวีความรุนแรง เร่งให้มนุษย์ต้องรีบหาทางอย่างจริงจังมากขึ้น NIA พร้อมมีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมที่จะช่วยลดผลกระทบของวิกฤตภูมิอากาศ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจและตำแหน่งงานใหม่ๆ จากการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านนี้อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1114886
https://www.startus-insights.com/innovators-guide/climate-tech-report/
https://www.weforum.org/agenda/2024/01/why-climate-tech-desperately-needs-more-financial-backing/
https://www.kasikornasset.com/th/market-update/Pages/HotTopic-20240619-thai_esg_bond.aspx
https://www.nia.or.th/2022/event/detail/17723
https://www.facebook.com/NIAThailand/posts/pfbid0sNLp1YFTQtoaQf4fwEMs33vzFRDYTec43Q9dH44bLGH7i32h1bGdE17wPB7LWGm3l
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340713