สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
NIA จับมือ FTI ดันดีพเทคสตาร์ทอัพ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ปูทางสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI จัดงาน Demo Day ของโครงการ “FTI DeepTech Startup Connext 2024” เพื่อประกาศความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาด เปิดเวทีโชว์ผลงาน 11 ดีพเทคสตาร์ทอัพ ทดสอบการใช้งานกับภาคอุตสาหกรรม ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้จริง พร้อมสร้างความร่วมมือต่อยอดธุรกิจ ขยายตลาดและการลงทุน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิยายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวเปิดงานว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เนื่องจากมีความซับซ้อนบนพื้นฐานจากการวิจัยระดับสูง จึงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานทรัพย์สินทางปัญญาและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการทางอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ สามารถสร้างตลาดใหม่และพลิกโฉมธุรกิจในปัจจุบันได้ ดังนั้น NIA ร่วมกับ FTI ดำเนินการส่งเสริมและเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกสู่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมไทย หรือ FTI DeepTech Startup Connext ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีความพร้อม สามารถสร้างรายได้ และขยายธุรกิจให้เติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้าน ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล กรรมการบริหาร และรองประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ FTI DeepTech Startup Connext เร่งพัฒนาการเติบโตของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเชิงลึกให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ต่อยอดหรือประยุกต์ใช้กับระบบต่างๆ ขององค์กรได้จริง และสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมให้มีประสบการณ์ในการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสในการจับคู่และมีความร่วมมือทางธุรกิจ จนเกิดการทดสอบการใช้งานเป็นต้นแบบระดับภาคอุตสาหกรรมได้ ทั้ง 11 ผลงาน สามารถนำไปแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้จริง”
นอกจากนี้ นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวแสดงความยินดีกับ 11 ดีพเทคสตาร์ทอัพในโครงการ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาดีพเทคเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาในโครงการ มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ภาคอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 6 เดือน อาทิ กิจกรรม Screening การคัดเลือก ดีพเทคสตาร์ทอัพเข้าสู่โครงการ กิจกรรม Community Building ซึ่งเป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมของดีพเทคสตาร์ทอัพเพื่อเข้าสู่ธุรกิจในรูปแบบ B2B กิจกรรม Mentor for Startup การมีพี่เลี้ยง ทีมที่ปรึกษาให้คำปรึกษาแบบ 1:1 กิจกรรม Matching to Markets กิจกรรมสร้างโอกาสให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจจนเกิดการทดสอบการใช้งานจริง และกิจกรรม Demo Day กิจกรรมนำเสนอความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีเชิงลึกไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมเหล่านี้ สร้างให้ดีพเทคสตาร์ทอัพได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ และได้เข้าถึงความเป็นภาคอุตสาหกรรม ความต้องการของผู้ใช้งานจริง และสามารถที่จะสร้างสรรรค์ผลงานต่างๆ ออกมาได้
ปิดท้ายด้วย นายธนพงษ์ ณ ระนอง รองประธานสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณ NIA ที่ร่วมในการผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ เกิดดีพเทคสตาร์ทอัพ มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และ FTI ได้ทำการเชื่อมโยงให้ภาคอุตสาหกรรมได้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงาน เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและผู้ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก จนเกิดเป็นต้นแบบภาคอุตสาหกรรมจำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการทดสอบการใช้งานจากภาคอุตสาหกรรมจริง
สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสิน และให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพ พร้อมเชื่อมโยงสู่การลงทุน ได้แก่
1) คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา จาก รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2) คุณณภัทร นันทเวชสันติ Beacon VC Partnership Head จากบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จํากัด
3) คุณฐิติรัตน์ สิทธัครเดช Principal ADB Ventures จาก Asian Development Bank
4) คุณชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Principal จาก INNOPOWER
5) คุณภูสิทธิ จิตต์จารึก Venture Creator จาก Origgin Ventures Pte. Ltd.
6) คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการนำเสนอผลงานบนเวทีของดีพเทคสตาร์ทอัพทั้ง 11 ทีม ได้มีการรวบรวมคะแนนตลอดระยะเวลาโครงการ และตัดสินจากคณะกรรมการ โดยสามารถสรุปผลตัดสินรางวัล มีรายละเอียดดังนี้
1. รางวัล The Winner และรางวัล Best of The Day คือ “ทีม ENVI SENSE” บริษัท เอ็นไวเซ้นส์ จำกัด พัฒนาสถานีตรวจวัดกลิ่นและคุณภาพอากาศแบบออนไลน์และบริการตรวจวัดกลิ่นรบกวน ที่แปลงกลิ่นเป็นดิจิทัลที่มี AI ให้ทำงานได้อย่างแม่นยำ
2. รางวัล First Runner-up คือ “ทีม Cleantech & Beyond” บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด ประยุกต์ใช้ฉลากอัจฉริยะสำหรับการตรวจสอบความร้อนของเครื่องจักรในงานบำรุงรักษาเชิงป้องกันด้วย Digital Temperature Indicator
3. รางวัล Second Runner-up คือ “ทีม Zycoda” บริษัท บีไอไอซี จำกัด พัฒนาระบบบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงแบบครบวงจรด้วย AI-Predictive Analytics Platform
4. รางวัล Popular คือ “ทีม Job Solution” บริษัท แอดไวเซอรี่ จำกัด พัฒนาระบบการจัดการงานสรรหาพนักงาน และระบบสัมภาษณ์งานออนไลน์และประเมินสมรรถนะของผู้สมัครงานด้วยเทคโนโลยี AI
ทั้งนี้ หากมีบริษัท นักลงทุน หรือหน่วยงานใด ที่สนใจในผลิตภัณฑ์/บริการของดีพเทคสตาร์ทอัพทั้ง 11 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล โทร 091-541 5542 อีเมล [email protected] และ คุณศิริภัสร์ สุทธิโมกข์ โทร 092-263 5600 อีเมล [email protected]
#NIA #FTI #StartupThailand #DeepTech #StartupConnext #SectoralDevelopment #GotoMarket #Growth