สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“DARPA” องค์กรนวัตกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งอนาคต

23 กันยายน 2565 3,546

ทำความรู้จัก “DARPA” องค์กรนวัตกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศแห่งอนาคต

 

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีศักยภาพด้านนวัตกรรมเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาเสมอโดยเริ่มเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพราะเหตุใดประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงยังตามหลังในเรื่องนวัตกรรม ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกาอยู่อันดับที่สามของโลกในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) หรือ GII โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่อันดับที่ 11

บทความนี้เราจึงศึกษาโมเดลของหน่วยงานหนึ่งที่รังสรรค์นวัตกรรมล้ำๆ หรือนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ซึ่งก็คือนวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และยังไม่เป็นที่แพร่หลาย (Diffusion) ในคนหมู่มาก เริ่มใช้งานในภาคการทหารและความมั่นคง จนถึงจุดที่ภาคเอกชนนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น อินเทอร์เน็ต ระบบ GPS หรืออากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในเวลานั้น โดยธรรมชาติของนวัตกรรมประเภทนี้ มักมีความเสี่ยงจึงต้องการความเป็นผู้นำขององค์กรเพื่อดำเนินการ ซึ่งหน่วยงานที่พัฒนาสิ่งเหล่านี้คือ สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงทางความมั่นคง (Defense Advanced Research Projects Agency) หรือ DARPA โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

DARPA เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1958 หลังจากสหภาพโซเวียตได้เริ่มโครงการ ‘Sputnik’ และส่งดาวเทียมดวงแรกไปยังอวกาศทำให้คู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกามีความกังวลในความล้ำหน้าของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของสหภาพโซเวียต จึงนำมาสู่การก่อตั้งของหน่วยงานนี้ ซึ่งมีภารกิจที่เจาะจงและชัดเจนมากคือ การผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันประเทศ ในองค์กรของ DARPA มีบุคลากรเพียงแค่ 220 คน โดยเป็นผู้ชำนาญการด้านเทคนิค 120 คน

 

บุคลากรน้อยขนาดนี้สร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้อย่างไร

การออกแบบโครงสร้างองค์กรมีความพิเศษและมีประสิทธิภาพอย่างมาก จนทำให้หลายหน่วยงานพยายามที่จะทำตาม แต่หลายองค์กรก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบความสำเร็จนี้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจระบบและโครงสร้างของ DARPA แบบแท้จริง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างองค์กรของ DARPA มีความแบนราบไม่ซับซ้อน ทำให้ไอเดียจากผู้บริหารและคนทำงานมีความลื่นไหลไปมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สามารถอยู่ใน DARPA ได้เพียง 3 – 5 ปี ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกถึงความเร่งด่วน (Sense of Urgency) อย่างมากในการสร้างผลงานในช่วงเวลาที่กำหนด และทำให้มีไอเดียและแนวคิดใหม่จากบุคลากรหน้าใหม่ๆ ไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง

DARPA มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการทำให้มีความคล่องตัวและกล้าที่จะรับความเสี่ยง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทุกนวัตกรรมที่ DARPA สร้างจะประสบความสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จองค์กรสามารถมองข้ามความผิดพลาด ซึ่งมุมองความคิดเหล่านี้ ทำให้สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

DARPA ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐภายใต้หมวดหมู่การวิจัย วิจัยประยุกต์ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีจำนวน 3.528 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 1.2 แสนล้านบาท (อ้างอิง 34.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) ถ้าหากจำได้จากข้างต้น DARPA มีบุคลากรเพียง 220 คน และปัจจุบันดูแลโครงการวิจัยและพัฒนา ทั้งหมด 220 โครงการ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการให้ทุนโครงการวิจัย

ถึงแม้ DARPA จะดูกล้าที่ลองอะไรใหม่ๆ และรับความเสี่ยงสูง แต่การลงทุนแต่ละโครงการไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้นำเสนอโครงการจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า โครงการจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใด? ปัจจุบันสิ่งที่มีอยู่เป็นอย่างไรและข้อจำกัดคืออะไร? ข้อจำกัดเหล่านั้นจะถูกกำจัดหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไรในนวัตกรรมที่กำลังจะสร้าง ดีขึ้นเท่าไหร่ กี่เท่า? หากสำเร็จจะสร้างความแตกต่างอย่างไหร่และให้ใคร? ระหว่างทางของโครงการนี้จะมีวิธีการอย่างไรในการทดสอบสมมติฐานและจะสำเร็จพร้อมใช้งานเมื่อใด? ใครจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์? ใช้งบประมาณเท่าไหร่? คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ DARPA คิดอยู่เสมอก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ ทำให้โครงการถูกคิดมาอย่างดีก่อนถูกนำไปนำเสนอ

อนึ่งการรับฟังไอเดียจากคนนอกทำให้ DARPA ได้มุมมองใหม่ที่ไม่สามารถเห็นได้จากข้างในองค์กร จึงมีโครงการเช่น Challenge.gov และ CitizenScience.gov เปิดรับฟังไอเดียจากประชาชนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้องค์กรได้รับไอเดียใหม่จากมุมที่ไม่เคยถูกมองมาก่อน

 

กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบการบริหารโครงการของ DARPA

เมื่อองค์กรค้นพบไอเดียที่ดี หรือ ‘Golden Nugget’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีความต้องการในตลาดสูง มีโอกาสในตลาดหลากหลายกลุ่ม มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน จะทำให้การถ่ายทอดจากห้องทดลองสู่ภาคเอกชนมีความเป็นไปได้สูง การดำเนินการต่ออาจต้องเลือกเดินระหว่าง 2 เส้นทาง ได้แก่ “การออกใบอนุญาต (Licensing)” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ดีในกรณีที่มีผู้เล่นในตลาดมากอยู่แล้วและมีต้นทุนในการเข้าถึงสูง เพราะเป็นการสร้างรายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงทางตลาด หรืออีกหนึ่งเส้นทางคือ “การแยกตัวออกมาตั้งบริษัท (spin-off)” จากมหาวิทยาลัยหรือห้องทดลองและดำเนินธุรกิจจากนวัตกรรมนั้นซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากและมีความเสี่ยงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้กลับมาในเชิงกำไรก็จะมากไปด้วยตามกฏแห่งการลงทุนที่ว่า ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง (High risk High return)

จากโครงสร้างองค์กรที่มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้การบริหารโครงการของ DARPA นั้นไม่ล่าช้าและซับซ้อน แต่มุ่งเน้นให้ทุกคนมีอิสระภาพทางความคิดและเสนอโครงการของตนเองได้โดยตรง เดิมแผนพัฒนานวัตกรรมมักมีแผนที่นำทางจากงานวิจัยมายังตลาดว่าต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง แต่ DARPA ไม่นำมาใช้ เนื่องจากการที่มีแบบแผนบังคับว่าจากจุด ก. ไปยังจุด ข. ต้องไปอย่างไร ซึ่ง DARPA มองว่าเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์ DARPA จึงมุ่งเน้นวิธีการ ‘endgame approach’ ซึ่งตั้งต้นจากผลิตภัณฑ์ปลายทางว่าอยากได้อะไรจากโครงการนี้ และต้องการเทคโนโลยีอะไรในการไปถึงจุดนั้น เพื่อลดการสร้างงานวิจัยที่ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดอย่างเดียว แต่ไม่นำมาสร้างคุณค่าและมูลค่าใดๆ

 

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defense Tech)

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หลายคนมักจะนึกถึงรถถัง อาวุธ ยุทโธปกรณ์ แต่ที่จริงแล้วในยุคนี้ทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำลังมุ่งเน้นไปในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล, 5G, และ สงครามไซเบอร์เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบความขัดแย้งในโลกที่เปลี่ยนไป นอกเหนือจากนี้อาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น อากาศยานไฮเปอร์โซนิค, Directed Energy Weapons, ระบบ UAS (Unmanned Aerial System) ก็เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศด้วย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างและมาตรการการปฏิบัติงานภายในที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์ทางการทหารและการบริหารงาน ทำให้ผู้ที่ถือ Data มีข้อได้เปรียบในเชิงยุทธวิธีในยุคนี้ ความเป็นนวัตกรรมจึงเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้การร่วมพันธมิตรกับหน่วยงานวิจัยหรือมหาวิทยาลัยเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

 

แคนาดาประเทศที่เลือกที่จะไม่เดินตาม DARPA

แคนาดาเป็นประเทศที่มีความล้าหลังในเชิงนวัตกรรมเมื่อเทียบกับประเทศใน G7 (Group of Seven) โดยหากดูงบประมาณที่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.8 ของ GDP ในขณะที่ประเทศใน G7 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของ GDP ล่าสุดแคนาดามีการจัดสรรงบประมาณ 780 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 2.67 หมื่นล้านบาท (อ้างอิง 34.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อจัดตั้งองค์กรที่มุ่งเน้นพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีใน 5 ปี ข้างหน้า แคนาดาเลือกที่จะไม่เดินตามรอยของ DARPA ในการบริหารจัดการองค์กรนี้ แต่มุ่งเน้นวางแนวทางขององค์กรให้มีความเป็นอิสระ ขับเคลื่อนเร็ว เหมือน Israel Innovation Authority (IIA) และ Finnish Funding Agency and Innovation (TEKES) เพราะเมื่อ 30 ปีก่อนฟินแลนด์พบเจอปัญหาคล้ายกับแคนาดาในปัจจุบัน แต่ฟินแลนด์สามารถนำพาประเทศก้าวข้าวไปสู่ประเทศที่มีนวัตกรรมระดับโลกซึ่งส่งผลกระทบบวกสู่เศรษฐกิจหลังจากนั้นเป็นต้นมา แคนาดาต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น การทำตาม DARPA ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมการป้องกันประเทศและอื่นๆ มากกว่านวัตกรรมเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์จึงไม่น่าดึงดูดสำหรับแคนาดา

 

การพัฒนาระบบนวัตกรรมในประเทศไทย

เดิมประเทศไทยไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมซึ่งมีความแตกต่างจากการวิจัยและพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรไปสู่การเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเต็มตัว และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ สร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม ยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเป็นนวัตกรรมในประเทศ โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในรูปแบบการให้ทุนต่างๆ เช่น โครงการนวัตกรรมแบบเปิด และโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เป็นนวัตกรผ่านโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจ เช่น โครงการ SPACE-F (Global Food-tech Incubator and Accelerator Program) เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมระดับประเทศ

 

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Supachatturat, D. (2022). Innovation Management Part I [Lecture Slides] (pp. 1-155). NIA. Retrieved 29 April 2022
  2. National Innovation Agency (NIA). nia.or.th. (2022). Retrieved 29 April 2022, from https://www.nia.or.th/
  3. Roundtable, N. (2022). DARPA's Approach to Innovation and Its Reflection in Industry. Ncbi.nlm.nih.gov. Retrieved 29 April 2022, from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK36337/
  4. “Special Forces” Innovation: How DARPA Attacks Problems. Harvard Business Review. (2022). Retrieved 29 April 2022, from https://hbr.org/2013/10/special-forces-innovation-how-darpa-attacks-problems
  5. McFarland, M. (2022). How DARPA stays innovative: It kicks employees out after four years. CNNMoney. Retrieved 29 April 2022, from https://money.cnn.com/2016/07/13/technology/darpa-innovation/index.html
  6. How DARPA's R&D model brings AI advancements to the enterprise. diginomica. (2022). Retrieved 29 April 2022, from  https://diginomica.com/how-darpas-rd-model-brings-ai-advancements-enterprise
  7. Beidel, E. (2022). DARPA: A Case Study in Open Innovation. Digital.gov. Retrieved 29 April 2022, from https://digital.gov/2016/07/25/darpa-a-case-study-in-open-innovation/
  8. Weber, T. (2020). Defence trends 2020: Investing in a digital future. Retrieved 3 May 2022, from https://www.pwc.com/gx/en/ceo-survey/2020/trends/defence-trends-2020.pdf 
  9. Top 10 Military Technology Trends for 2022 | StartUs Insights. (2022). Retrieved 3 May 2022, from https://www.startus-insights.com/innovators-guide/top-10-military-technology-trends-2022/ 
  10. (DLR), G., & (FZJ), J. (2022). Canada announces new innovation agency — and it’s not modelled on DARPA. Retrieved 20 May 2022, from https://www.nature.com/articles/d41586-022-01190-4 

 

บทความโดย
ศิวกร ลิ้มวัฒนะกูร (ไปป์)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ