สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เทพลงทุน” จิ๊กซอร์สำคัญของวงการสตาร์ทอัพไทย

บทความ 9 กุมภาพันธ์ 2565 4,588

“เทพลงทุน” จิ๊กซอร์สำคัญของวงการสตาร์ทอัพไทย


การเติบโตของสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นจะแทบไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าขาดเทพในการลงทุน หรือที่เรียกกันว่า “Angel Investor” โดยการลงทุนในลักษณะนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ เมื่อปี ค.ศ. 1920 ที่ผู้ผลิตต้องวิ่งหาแหล่งเงินทุนในการเริ่มสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาสักเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมีนักธุรกิจตอบรับและลงเงินก้อนแรกมาให้ ต่อมาจึงมีการเรียกกลุ่มนักลงทุนแรกในบริษัทที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจว่า “Angel Investor” หรือเทพลงทุนนั่นเอง 


ปัจจุบัน นิยามของ Angel Investor คือ นักลงทุนบุคคลอิสระที่สนับสนุนเงินแก่สตาร์ทอัพขนาดเล็ก โดยมีผลตอบแทนคือหุ้นของบริษัท (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Private Investor หรือ Seed Investor) ซึ่งกลุ่มเทพลงทุนเหล่านี้ ถือเป็นคนสำคัญที่จะช่วยสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มตั้งธุรกิจในระยะแรกให้ออกตัวได้ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก ซึ่งพบว่าในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีไม่เหมือนกับการลงทุนทั่วไป เพราะมีความเสี่ยงสูงและใช้ระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทน ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักลงทุนกลุ่มนี้ก็คือสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ธุรกิจสามารถ exit ได้ ไม่ว่าจะถูกซื้อหรือกลายเป็นหุ้นน้องใหม่ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ซึ่งเมื่อได้เงินก้อนใหญ่แล้วผันตัวเองมาเป็นนักลงทุนก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น เอดูอาโด หลุยซ์ ชาวเวอริน นักลงทุนที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊ก โดยเริ่มแรกเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (co-founder) แต่ภายหลังหันไปตั้งกองทุนบี แคปปิตอล กรุ๊ป ขึ้นเอง และ ราม ชรีราม นักธุรกิจชาวอินเดียน-อเมริกันที่ลงทุนให้กับกูเกิ้ลเป็นรายแรกๆ เป็นต้น 


การเติบโตของระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นในไทยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยในช่วง 5 ปีแรก การลงทุนในสตาร์ทอัพจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า (Grant) จากภาครัฐเป็นหลัก มีการรวมตัวของนักลงทุนคือ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) แต่ยังมีนักลงทุนที่เป็น Angel Investor ไม่มากนัก เช่น คุณต๊อบ-เถ้าแก่น้อย ต่อมาในช่วง 5 ปีหลัง องค์กรขนาดใหญ่เริ่มมีการจัดตั้งบริษัทในเครือเพื่อบริหารกองทุนจากบริษัทแม่ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพภายในประเทศเพิ่มขึ้น (Corporate Venture Capital) นักลงทุนที่เป็น Angel Investor มีการรวมเป็นกลุ่มเพื่อหาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน เช่น บางกอก เวนเจอร์ คลับกลุ่มศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่ม Unfold ที่ใช้คลับเฮ้าส์ในการเข้าถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ 


เทพลงทุนส่วนใหญ่คือสตาร์ทอัพที่ผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน โดยนำประสบการณ์ของการเป็นสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเข้าสู่ตลาด การขยายตลาด ตลอดจนการระดมทุน และเครือข่ายธุรกิจของพวกเขามาเป็นองค์ความรู้และพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีให้กับสตาร์ทอัพน้องใหม่ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจให้ต่ำลง มากไปกว่านั้นคือ นักลงทุนกลุ่มนี้จะมีความเข้าใจในธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างถ่องแท้และเห็นถึงบทบาทสำคัญของ Angel Investor ที่เข้ามาช่วยธุรกิจให้เดินต่อ ไม่ใช่เพียงลงแค่เงินแล้วหวังผลกำไรอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำหรือช่วยจับคู่ธุรกิจ ทั้งลงทุน ลงแรง และลงเวลา แทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานประจำอีกหนึ่งงานเลยก็ว่าได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ


ขอยกตัวอย่างการเป็น Angel Investor ตามข้อมูลที่คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) ได้บรรยายไว้ว่า 

บริษัทสตาร์ทอัพที่ยิ่งเล็ก จำนวนชั่วโมงที่ต้องเข้าไปคุยหรือมีส่วนร่วมในบริษัทก็ยิ่งมาก อาจเป็นเดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือแม้แต่วันละครั้ง แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ใหญ่การเข้าไปมีส่วนร่วมของนักลงทุนก็เป็นแค่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่จะประชุมเพียงไตรมาสละครั้งหรือปีละครั้ง โดยต้องระลึกเสมอหากสตาร์ทอัพที่เราลงทุนไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ความผิดของผู้บริหารบริษัท (CEO) แต่เป็นความผิดที่เราไม่ลงไปมีส่วนร่วม เพราะการร่วมลงทุนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น หากทำไม่ได้ก็ดูไม่เหมาะที่จะเป็นนักลงทุนสายนี้


การเป็น Angel Investor ที่จะประสบผลสำเร็จ ต้องประกอบด้วย

  • Deal Flow is King: ความสำเร็จในวงการนักลงทุนทั้งที่เป็น VC และ Angel Investor นั้นใกล้เคียงกัน แต่มีจุดต่างอยู่ที่การเจรจาการลงทุน ยิ่งเห็นดีลมาก โอกาสที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดีก็จะมีมากขึ้น
  • Balance active management with overzealous control: มีเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างเข้าไปช่วยบริหารจัดการกับการพยายามควบคุมบริษัท ถือว่าเป็นพื้นที่สีเทาที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม 
  • Respect and Reputation: ให้เกียรติสตาร์ทอัพที่ร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้มีสตาร์ทอัพติดต่อเข้ามาพูดคุยมากขึ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนและเจรจาการลงทุน (Deal Flow) ในข้อแรกเพิ่มมากขึ้นด้วย 
  • Think like VC: อาศัยหลักการคิดวิเคราะห์แบบของ VC 


การพัฒนาให้เกิดกลุ่มเทพลงทุนผู้ใจดีเหล่านี้ จึงเป็นหนทางคู่ขนานและเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ เนื่องจากลำพังภาครัฐเองไม่สามารถปิดช่องว่างเรื่องเงินทุนเพื่อใช้ในการเติบโตของสตาร์ทอัพในช่วงระยะแรกได้ทั้งหมด ดังนั้น NIA จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการลงทุน หรือ Angel Investor Network in Action โดยมุ่งให้เกิดนักลงทุนรุ่นใหม่และพัฒนาเครือข่ายให้แข็งแรงและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพจากนักลงทุนรุ่นพี่ ซึ่งได้ร่วมกับ สวทช. เพื่อดึงกลุ่ม Thailand Business Angel Network หรือ TBAN มาร่วมในโครงการ ทั้งนี้ กลุ่ม TBAN ก่อตั้งโดย Angel Investor กลุ่มแรกของไทยที่ได้รับการรับรองจาก โปรแกรม Qualified Angel Investor Course (QBAC+) ของ World Business Angel Forum หรือ WBAF และยังอยู่ในเครือข่ายเดียวกับกองทุนภาครัฐคือ อินโนสเปซ และ NSTDA Holding ที่มุ่งหวังการพัฒนาให้เกิดการ ร่วมทุนในเทคโนโลยีเชิงลึกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย โดยนำร่องจัดกิจกรรมขึ้นใน 5 พื้นที่ทั่วประเทศ คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น สงขลา เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งพบว่ามีกลุ่มที่สนใจลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเข้าร่วมโครงการ รวมกว่า 150 ราย ไม่เพียงเท่านั้น NIA และ สวทช. ได้คัดเลือกนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ร่วมโครงการ 25 ราย จาก จำนวนทั่วทุกภูมิภาคเข้ารับการอบรมในหลักสูตร QBAC+ เพื่อสร้างนักลงทุนที่เข้าใจในสตาร์ทอัพต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 


ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายผลของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง NIA ได้จัดเวทีให้กลุ่มนักลงทุนที่เป็น Angel Investor และสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้มีโอกาสมาเจอกัน เปิดบทสนทนาธุรกิจ โดยคัดเลือกสตาร์ทอัพดาวรุ่งจากโครงการ Startup Thailand League 40 บริษัท ให้เข้ามานำเสนอโมเดลธุรกิจแบบออนไลน์ แลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อ เพื่อนำไปสู่หนทางร่วมลงทุนต่อไป 


จนถึงตอนนี้ จากการจัดกิจกรรมต่างๆของ NIA ก่อให้เกิดเครือข่ายของ Angel Investor รุ่นใหม่ที่มาพร้อมวงเงินลงทุนกว่า 110.55 ล้านบาท ซึ่งสามารถผลักดันธุรกิจของสตาร์ทอัพไทยรายใหม่มากกว่า 200 ทีม หมายรวมไปถึงการเกิดเครือข่ายพี่เลี้ยง (Mentor) อีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบนิเวศอย่างครบวงจร เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


บทความโดย  

พรพิชา เพชรแก้วกุล

นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม