สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
อนาคต ‘อาหารจานโปรด’ ที่เปลี่ยนไป มองอุตสาหกรรมอาหารในปี 2025 ผ่านเลนส์ของผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
🤤 ‘ลิ้มรส’ ความอร่อยอย่าง ‘ลึกซึ้ง’ กับเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในจานอาหาร เมื่อประเทศไทยหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทรนด์อาหารโลกนับต่อจากนี้
📈 จากข้อมูลสรุปทิศทางอนาคตของการบริโภคอาหาร โดย The Luxury Group by Marriott International ซึ่งได้รวบรวมมาจากเชฟ บาร์เทนเดอร์ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารกว่า 30 คน รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของอาหารเอเชียแปซิฟิกที่ครองส่วนแบ่งในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลก ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 37.8% และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตถึง 6.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033
🍴 แล้วสุนทรีย์แห่งการกินในปี 2025 จะมีอะไรที่น่าสนใจให้ติดตามกันบ้าง ? NIA สรุปเนื้อหาทั้งหมดมาให้แล้ว ตามไปดูกัน
🍶 วัตถุดิบและวัฒนธรรมในอาหารเอเชีย เริ่มถูกนำไปผสมผสานเข้ากับเมนูอาหารทั่วโลก
ด้วยความพิถีพิถันและความใส่ใจในการเลือกใช้วัตถุดิบอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้วงการเชฟรอบโลกเริ่มมีการนำเทคนิคและเครื่องเทศจากอาหารเอเชีย นำไปผสมผสาน รังสรรค์ออกมาเป็นเมนูอาหารสไตล์ใหม่ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ชื่อเสียงที่โด่งดังของวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่นในเอเชีย ยังเป็นแรงดึงดูดให้เกิดจุดเช็กอินสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารถึง 10 แห่งประจำภูมิภาค ได้แก่ บาหลี ปูซาน เชจู โฮจิมินห์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา มุมไบ นิเซโกะ เซี่ยงไฮ้ และแทสมาเนีย
🧑🏻🍳วัตถุดิบท้องถิ่นที่ (เกือบ) ถูกทิ้ง ถูกนำมาชุบชีวิตด้วยนวัตกรรม
แม้จะมีวัตถุดิบหลายอย่างที่ขึ้นชื่อ แต่ก็มีบางอย่างที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก เชฟหลายคนจึงมีการนำวัตถุดิบที่ใกล้จะถูกลืมมาชุบชีวิตด้วยนวัตกรรม อย่างเช่น ‘ไข่ผำ’ พืชจิ๋วพื้นบ้านของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของโปรตีนที่สูงมากถึง 40% ของน้ำหนักตอนแห้ง มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนและยังอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี ใช้พื้นที่และทรัพยากรในการเพาะปลูกน้อย ซึ่งในประเทศไทยก็มีสตาร์ทอัพที่ต่อยอดการบริโภคไข่ผำให้ง่ายและน่าสนใจกว่าการปรุงอาหารธรรมดา ตัวอย่างเช่น การนำไปกินคู่กับอาหารสุขภาพอย่างสลัดหรือของหวานอย่างไอศกรีม เป็นต้น
♻ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ลดลง ทำให้ความยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะ ‘วัตถุดิบ’ คือตัวแปรขั้นแรกสุดในการรังสรรค์เมนูอาหาร แต่เมื่อวัตถุดิบหลายอย่างเริ่มขาดตลาด ผู้ผลิตจึงต้องมองหา Suppliers ใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นฟาร์มธรรมชาติอย่าง ฟาร์มเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative Farming) รวมไปถึงยังมีแนวทางในการเลือกวัตถุดิบที่ไม่กระทบกับความยั่งยืนอีกหลายๆ อย่าง เช่น การหันมาสนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อลดการนำเข้า การ Upcycle เศษอาหารที่เหลือทิ้ง หรือการมีแคมเปญ #กินหมดจาน ก็เป็นกิจกรรมช่วยลดขยะเศษอาหารที่เป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลก
💪🏻 กิน-อยู่-เพื่อสุขภาพ ⎯ Food Wellness ราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่าย
ความเชื่อที่ว่า ‘อาหารเป็นยา’ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจต่ออาหารที่รับประทานในหลากหลายมิติตามความต้องการด้านสุขภาพ สอดคล้องกับผลสำรวจจาก New Year, New Me ที่พบว่า 85% ของคนในเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่าอาหารมีความสำคัญต่อร่างกายและจิตใจ โดยการเลือกบริโภคอาหารนั้นจะเน้นการเลือกส่วนผสมที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่ช่วยต้านการอักเสบ อาหารที่ใช้ความหวานจากธรรมชาติ หรือการดื่มสังสรรค์ก็พบว่า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือไม่มีแอลกอฮอล์เลย กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่
🤖 AI & Technology จะช่วยชดเชยปัญหาด้านแรงงาน-การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมีร้านอาหารใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอยู่เสมอ อุตสาหกรรมอาหารล้วนต่างเจอกับความท้าทายด้านแรงงาน แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้งานหลายๆ อย่างสามารถจัดการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ได้มีแค่งานบริการหน้าร้าน แต่สามารถประยุกต์ให้ช่วยเหลือผู้ผลิตได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อการวางแผนการผลิต การจัดการ การแปรรูป ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดด้วยนวัตกรรม
🥣 เพราะ “อาหาร” คือหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ไม่ว่าใครก็ต้องการ แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจอาหารทุกชนิดจะอยู่รอดได้ในยุคแห่งการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อขานรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องหาวิธีในการสร้างจุดขายหรือการประยุกต์ใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพในกระบวนการต่างๆ และเพื่อเป็นการเสริมองค์ความรู้ให้อุตสาหกรรมอาหารของไทย
ปีนี้ NIA จึงจัดทำโครงการ “Thai Kitchen” ซึ่งเป็นกิจกรรม Crafted FoodTech Accelerator Program ที่ออกแบบการบ่มเพาะความรู้ให้กับธุรกิจนวัตกรรมอาหารแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเร่งสร้างและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอาหารให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สร้างโอกาสให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ใน 3 กลุ่มสำคัญที่สอดรับกับแนวโน้มด้านเทคโนโลยีอาหารของโลกประกอบด้วย
1. อาหารพื้นถิ่นมูลค่าสูง (Modern Heirloom)
2. อาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูง (High-Value Thai Food & Fruits)
3. อาหารแห่งอนาคต (Future Food)
เตรียมตัวไว้สำหรับการเปิดรับสมัครในเดือนเมษายนนี้
👍🏻 หมดเวลาของอาหารธรรมดาๆ เพราะผู้บริโภคให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าในอาหาร และต้องเป็นจานที่พิสูจน์ได้ว่ามีความเป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันตลาดโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://thestandard.co/life/food-trends-2025/
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/food/1159795
https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/666971db83ef3
https://www.khaosodenglish.com/sponsored/2024/10/17/marriotts-luxury-group-unveils-future-of-food-2025-trends-report/