สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

อนาคตระบบนิเวศนวัตกรรมไทย กับการขานรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากงาน APEC 2022

23 ธันวาคม 2565 1,525

อนาคตระบบนิเวศนวัตกรรมไทย กับการขานรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากงาน APEC 2022

“โลกกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร”
“หลายประเทศระงับการส่งออกจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ”
“สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศและทรัพยากรธรรมชาติกำลังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

แค่พูดถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ไม่กี่อย่าง ก็ดูเป็นเรื่องยากที่มนุษยชาติจะรับมือกับมันได้ แต่ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงความรู้หรือวิทยาการที่เราได้สั่งสมกันมา ทำให้เราต้องจับมือร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ให้ได้

APEC 2022 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นอีกความร่วมมือครั้งสำคัญที่ผู้นำจากหลากหลายประเทศได้มีโอกาสพูดคุยกันเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

โดยประเทศไทยได้กำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อกำลังบอกว่าประเทศไทยพร้อมแล้วกับการเชื่อมโยงทุกประเทศในหลายมิติ จึงได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG Model” ซึ่งเป็นการนำ Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว เข้ามาเป็นแนวคิดหลักในการช่วยพัฒนาทั้งในเชิงนโยบายและการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ ให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ภายในงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้แสดงศักยภาพที่สอดคล้องกับแนวคิดของงานผ่านโครงการต่างๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET นำเสนอโครงการที่มีชื่อว่า Care The Bear ขึ้นมา ซึ่งเป็นการหนุนให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรต่างๆ ปรับพฤติกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ซึ่งสามารถนำผลประเมินจากโครงการนี้ไปต่อยอดในรายงานความยั่งยืนขององค์กรได้ และไปขอใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ LESS จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้เช่นกัน หรือในการประชุมครั้งนี้ SCG ได้เนรมิตทุกส่วนของการประชุมให้เป็น Green Meeting ด้วยนวัตกรรมกระดาษ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์และเป้าหมายของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น และนี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของหน่วยงานที่ขานรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากงาน APEC 2022 เท่านั้น

ในฝั่งของ สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เองแม้งานจะผ่านพ้นไปแล้ว ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันแนวคิด BCG Model ด้วยเช่นกัน และเป็นสิ่งที่ NIA พยายามสนับสนุนมาโดยตลอดก่อนที่การประชุมนี้จะเกิดขึ้น เห็นได้จากความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การออก SMART VISA โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพ นักลงทุน และคนทำงานจากต่างประเทศให้เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน พร้อมมี Community ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบ One Stop Service อย่าง Global Startup Hub อีกด้วย

โดยในงาน BCG Startup Investment Day เมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา NIA เราได้ประกาศแล้วว่ามีเป้าหมายที่จะสร้าง BCG Deep Tech Startup ให้ได้จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ระยะแนวคิดต้นแบบ ไปจนถึงระยะที่พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การให้ทุน Thematic Innovation ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ ก็มีกลไกสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากขึ้น

เพราะครอบคลุมตั้งแต่ ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก (High-Value Food for Export) ธุรกิจนวัตกรรมด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) สาขาธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Circular and Low-Carbon Economy) ธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech) สาขาธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งจะมีเงินทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อโครงการ

นอกจากนี้ NIA ได้รับทุนสนับสนุนจาก APEC จำนวน 146,500 USD หรือประมาณ  5 ล้านบาท ในการเร่งสร้างความร่วมมือ ระดับนานาชาติ ในโครงการ “APEC Biology-Circular-Green (BCG) Startups Regional Program on Sustainable Growth” ร่วมกับ Beijing International Exchange Association of China จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

อนาคตของระบบนิเวศนวัตกรรมไทยจึงสอดรับกับแนวทางการพัฒนาของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่ง NIA จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญเพื่อทำให้ประเทศก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมความยั่งยืนได้ในหลายมิติ และปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.apec2022.go.th/th/what-is-apec-th/
https://www.chula.ac.th/highlight/88490/
https://thaipublica.org/2022/11/apec-economic-leaders-week-2022/
https://climate.setsocialimpact.com/carethebear/
https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/collaboration-projects/apec-2022/
https://smart-visa.boi.go.th/smart/
https://www.nia.or.th/WhatIsBCG
https://techsauce.co/news/boi-nia-and-partners-launch-bcg-startup-investment-day