สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (SOCIAL INNOVATION BUSINESS PLAN CONTEST 2017)” เพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้แก้ปัญหาทางสังคมโดยใช้หลักธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะต้องคำนึงถึงการประสบความสำเร็จทั้งในรูปแบบทางการเงิน และคุณค่าทางสังคมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคมของ สนช. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสอดคล้องกับการพัฒนาในมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) มีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือรูปแบบการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม และต้องสามารถแพร่กระจายไปยังสังคมอื่นๆ รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมที่ผ่านมา สนช. ได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและให้ทุนแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมปีละกว่า 100 ธุรกิจใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “นวัตกรรมเชิงธุรกิจ” ที่มุ่งสร้างผลกำไรสู่องค์กรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันได้เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระแสโลกที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงประเด็นด้านสังคมอื่นๆ เช่น การใช้แรงงาน สวัสดิการสังคม
ในปี 2560 ถือเป็นปีแรกที่ สนช. กำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคมขึ้น เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามสหประชาชาติใน 17 ด้าน และแบ่งโจทย์ด้านสังคมเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
2) ความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน
3) การศึกษา
4) การเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม
5) เกษตรกรรมยั่งยืน
6) ความเป็นเมือง
7) สุขภาพ
8) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
9) การจัดการภัยพิบัติ
โดยขับเคลื่อนผ่านการสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และเกิดการแพร่กระจายของการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง มากกว่าการมุ่งสร้างผลกำไรในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม แต่ด้วยบริบทที่ต่างออกไปจากด้านเศรษฐกิจ สนช. จึงพัฒนากลไกใหม่สำหรับนวัตกรรมเชิงสังคม ตั้งแต่ต้นน้ำ (Co-funding และ Social innovation Lab) กลางน้ำ (Innovation Diffusion) และปลายน้ำ (Award)
สำหรับความร่วมมือในการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมนี้ นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ สนช. มุ่งหวังให้เป็นเวทีสำคัญในการเชิดชูความคิดในเชิงนวัตกรรมเพื่อสังคมที่โดดเด่น ซึ่งทั้ง สนช. และ มศว. จะช่วยกันบ่มเพาะ ปลูกฝังความรู้ และแนวคิดตามหลักการของธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงสนับสนุนให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้แก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสำเร็จทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม กลั่นออกมาและตกผลึกออกมาเป็นรูปธรรมที่ สนช. หวังว่าจะสามารถเติบโตสู่ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนได้ต่อไป”
รองศาสตราจารย์สุพาดา สิริกุตตา ผู้แทนคณะบดี คณะสังคมศาสตร์ มศว. เปิดเผยว่า “มศว. กำหนดเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจนในการเป็น “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวไว้ในแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงบุคลากรทุกระดับ ตลอดจนนิสิตให้ตระหนักในความสำคัญของการมีจิตอาสาและการนำความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการและการวิจัยออกไปสู่สังคมภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยเสมอมา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยฯ ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการประกวดแผนธุรกิจ Swu SE Contest การจัดหลักสูตรรอบรมผู้ประกอบการทางสังคมระยะกลางและระยะสั้น การเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคมในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตรภาคภาษาไทยหลักสูตรแรกในประเทศ รวมถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตัวแบบและแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ การจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนแห่งความสำเร็จของการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ในการส่งเสริมแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมมาบูรณาการสู่โครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อเป็นเวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมที่มีแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่มีศักยภาพและมีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นมืออาชีพแต่ขณะเดียวกัน ยังคงไว้ซึ่งจิตสำนึกสาธารณะในการนำธุรกิจไปใช้แก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน”
ดร.สันติ เติมประเสริฐสกุล รักษาการหัวหน้าภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ มศว. กล่าวถึงรายละเอียดการโครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมครั้งนี้ว่า “กิจกรรมดังกล่าวนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่คิดค้น พัฒนาแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ หรือกระบวนการใหม่ทางสังคม โดยการจัดทำเป็นแผนธุรกิจภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นแผนที่สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป โดยผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือผู้ที่มีแนวคิดจะริเริ่มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม แต่จะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมทีมไม่เกิน 5 คน โดยต้องสามารถปลุกปั้นแผนธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลากว่า 4 เดือน และแผนนั้นต้องเป็นข้อมูลที่ผู้เข้าประกวดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง มิได้ทำซ้ำ คัดลอก เลียนแบบ และดัดแปลงของผู้อื่น โดยมีความยาวฉบับย่อ ไม่เกิน 15 หน้า (ไม่รวมภาคผนวก font Angsana new ขนาด 16) เพื่อส่งให้คณะกรรมการภายในพิจารณาในรอบคัดเลือก
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถดาวโหลดใบสมัครที่ https://form.jotform.me/71251851684459 ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งกรรมการจะมีการคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีม โดยจะได้รับประกาศนียบัตรพร้อมเข้ากิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแผนธุรกิจนวัตกรรมทางสังคม โดยจะมีโค้ชหรือที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำตลอดการทำโครงการ ทั้งนี้ จะประกาศผลและมอบรางวัลในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” สำหรับทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูงสุด จำนวน 100,000 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 1 จำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 2 จำนวน 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท นอกจากนี้ โครงการต่างๆ ที่เข้าร่วมประกวดมีสิทธิที่จะได้เข้ารับการพิจารณาสนับสนุนเงินในกลไกลของ สนช. ได้อีกทางหนึ่งด้วย”
สนช. ปั้นแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (กรุงเทพธุรกิจ)
สนช. ขับเคลื่อน "นวัตกรรมเพื่อสังคม" (ไทยโพสต์)
นวัตกรรมเพื่อสังคม (มติชน)