สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับภาคีพันธมิตร ลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการ Youth APEC : Amplify Your Voices, Amplify Your Ideas, Amplify Your Impact

News 21 มีนาคม 2565 1,637

NIA ร่วมกับภาคีพันธมิตร ลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการ Youth APEC : Amplify Your Voices, Amplify Your Ideas, Amplify Your Impact

NIA ร่วมกับภาคีพันธมิตร ลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการ Youth APEC : Amplify Your Voices, Amplify Your Ideas, Amplify Your Impact กับแพลตฟอร์ม Youth In Charge โดย บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดพื้นที่ให้เยาวชนไทยจากภูมิภาคต่างๆ ได้ร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA เข้าร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินการโครงการ Youth APEC : Amplify Your Voices, Amplify Your Ideas, Amplify Your Impact เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพและต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เข้ามามีส่วนร่วม และฟูมฟักความเป็นผู้นำในการร่วมสร้างและพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมในภูมิภาคของตนเองให้ดีขึ้น ร่วมกับภาคีพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คณะกรรมการ BCG APEC Business Advisory Council (ABAC) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 5 ภูมิภาค 

ดร.พันธุ์อาจ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมและผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Startup Thailand League และ โครงการ STEAM4INNOVATOR โดยภายในงานมีการเปิดวงสนทนาในมุมมองของเครือข่าย ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และมีพื้นที่ให้เยาวชนได้ระดมสมอง แลกเปลี่ยนไอเดียการพัฒนาในประเด็นภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG 

ในส่วนของการ Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในระดับภูมิภาค คุณภคพงศ์ พรมนุชาธิป ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ ได้แนะนำตัวอย่างโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาจากงานวิจัยของเยาวชนและผู้ประกอบการต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งสตูลและสงขลา ได้แก่ 

โครงการ “Peapo Meat” เนื้อเบอร์เกอร์จากพืช เป็นหนึ่งในงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนีในจังหวัดนราธิวาส เพื่อช่วยลดปัญหาความกังวลในการบริโภคเบอร์เกอร์ ซึ่งเนื้อที่ใช้ต้องเป็นเนื้อวัวที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม การผลิตเนื้อเบอร์เกอร์จากพืชจึงช่วยลดความกังวลในเรื่องนี้ให้กับชุมชนชาวมุสลิมในพื้นที่ที่นิยมบริโภคเบอร์เกอร์ และอีกโครงการหนึ่งคือ การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด สาหร่ายขนนกเป็นพืชที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดที่สูงแต่เติบโตได้ในช่วงเวลาที่จำกัด จึงมีแนวคิดที่จะนำสาหร่ายขนนกมาเพาะเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดเพื่อให้มีผลผลิตได้ทั้งปี รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพสาหร่ายได้อย่างสม่ำเสมอคงที่ โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้นำเสนอไอเดียการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับโมเดลธุรกิจแบบ BCG เช่น Fast Fashion, Food Waste การท่องเที่ยว ฯลฯ ทำให้เราได้เห็นมุมมอง แนวความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม