สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมหารือ WEF พัฒนาผู้ประกอบการและนวัตกรรมไทย พร้อมเตรียมดันสตาร์ทอัพร่วมเวทีระดับโลก

News 9 เมษายน 2568 39

NIA ร่วมหารือ WEF พัฒนาผู้ประกอบการและนวัตกรรมไทย พร้อมเตรียมดันสตาร์ทอัพร่วมเวทีระดับโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา และคณะเจ้าหน้าที่ เข้าพบหารือร่วมกับ Mr. Piyamit Bing Chomprasob รองหัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) และคณะ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ได้กล่าวแนะนำบทบาท ภารกิจและการดำเนินงานของ NIA ที่มุ่งเน้นส่งเสริมระบบนวัตกรรมและส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยดำเนินภารกิจหลักในการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคธุรกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ โดยมีสตาร์ทอัพในเครือข่ายประมาณ 2,000 ราย ทั้งสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น (Early-stage) และสตาร์ทอัพระยะเติบโต (Growth-stage) และมีการดำเนินโครงการสำคัญๆ อาทิ การให้ทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น โครงการจับคู่สตาร์ทอัพกับนักลงทุน (VC Matching) และการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เป็นต้น

Mr. Till Leopold หัวหน้าทีมวิจัยด้านตลาดงานและการสร้างงาน ได้นำเสนอข้อมูลรายงานสำรวจ The Future of Growth Report 2024 ซึ่งเป็นการประเมินอนาคตการเติบโตของประเทศต่างๆ โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51 คะแนนรวม 48.99 คะแนน จากการประเมินทั่วโลก โดยมีองค์ประกอบ 4 มิติ ได้แก่ ปัจจัยในการรับมือและปรับตัวต่อพัฒนาการทางนวัตกรรม (Innovativeness) ความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่น (Resilience) ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนเด่นด้าน "ความสามารถในการปรับตัวต่อนวัตกรรม" (Innovativeness) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก สะท้อนถึงศักยภาพของไทยในการพัฒนาด้านนวัตกรรม แต่ยังมีความท้าทายในด้าน “ความยั่งยืน” และ “ความยืดหยุ่น”

นอกจากนี้ Mr. Till Leopold ให้ข้อมูลเพิ่มด้านแนวโน้มตลาดงานและทักษะในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าจะมีงานใหม่เกิดขึ้น 170 ล้านตำแหน่ง และมีงาน 92 ล้านตำแหน่งที่จะหายไป โดยมี 5 กระแสหลักที่กระทบตลาดแรงงาน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (โดยเฉพาะ AI) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการแบ่งแยกทางภูมิเศรษฐศาสตร์ โดยทักษะที่จำเป็นในอนาคต ได้แก่ ทักษะด้านเทคโนโลยีและทักษะการคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยใกล้เคียงค่าเฉลี่ยโลก แต่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้น ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), AI และ เซมิคอนดักเตอร์ โดยยังมีอุปสรรคหลัก คือ ช่องว่างทักษะแรงงาน (Skills Gap)

ทั้งนี้ NIA และ WEF ได้หารือแนวทางความร่วมมือในการดำเนินโครงการ Acceleration ด้านทักษะและการจ้างงาน พร้อมทั้งเชิญ NIA เข้าร่วมงาน Summer Davos ที่จะจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงเดือนมิถุนายน 2568 ภายใต้หัวข้อหลัก: "ผู้ประกอบการในยุคใหม่" (Entrepreneurship in the New Era) และเสนอให้เชิญสตาร์ทอัพไทยที่มีความโดดเด่นเข้าร่วม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากประเทศอื่นๆ พร้อมกันนี้ จะมีการหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมการประชุม IMF/World Bank ที่ประเทศไทยในปีหน้าร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการอภิปรายด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม

#NIA #Innovation #InnovationDiplomacy #WEF #WorldEconomicForum #WorldBank