สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ย้อนรอยเส้นทางนวัตกรรมเวียดนาม ดาวจรัสแสงแห่งอาเซียน

บทความ 8 เมษายน 2564 4,482

ย้อนรอยเส้นทางนวัตกรรมเวียดนาม ดาวจรัสแสงแห่งอาเซียน


“เวียดนาม” ประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในเชิงบวกสำหรับปี 2564 ซึ่งสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก นอกเหนือจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในขาขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้รับการชื่นชมถึงประสิทธิภาพและความสำเร็จในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เวียดนามกลายเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจจากทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงขาลง อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 ที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศหยุดชะงัก และไม่สามารถดำเนินแผนกิจกรรมได้ตามเป้าหมาย แต่สำหรับเวียดนามแล้ว วิกฤตการณ์โรคร้ายดังกล่าวไม่ได้สั่นคลอนภาวะเศรษฐกิจมากเท่าใดนัก จากรายงานพบว่า เวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.9% ซึ่งสูงแซงหน้าจีนที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.3% ทั้งนี้ หากเป็นช่วงสภาวการณ์ปกติ ตัวเลขดังกล่าวของเวียดนามอาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อพิจารณาอัตราดังกล่าวแล้วเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 30 ปีเลยทีเดียว แต่หากคำนึงถึงปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 และอัตราการเติบโตของประเทศต่างๆโดยรวมแล้ว ในปีที่ผ่านมาเวียดนามกลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความถดถอยทางเศรษฐกิจในรอบหลายสิบปี เช่น ประเทศไทยมีการหดตัวทางเศรษฐกิจที่ -6.1% ซึ่งเป็นการถดถอยต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี หรือกระทั่งประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจชั้นนำอย่างสิงคโปร์ก็เผชิญกับการหดตัวทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกันซึ่งอยู่ที่ -5.8%

ในความเป็นจริง หากพิจารณาถึงปัจจัยสนับสนุนที่เวียดนามได้วางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศไว้แล้วนั้น ถือว่าพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เวียดนามได้ริเริ่มการปฏิรูปฐานรากเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2529 โดยประกาศใช้นโยบาย “Doi Moi” เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสาระสำคัญครอบคลุมถึงการกระจายอำนาจบริหารแก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจเสรี อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยที่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาวและเปิดเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร ทั้งนี้ จากสถิติการค้าในปี 2532 เวียดนามมีการส่งออกข้าวเพียง 1.4 ล้านตัน แต่ในปี 2563 เวียดนามมีการส่งออกข้าวปริมาณมากถึง 6.3 ล้านตัน กลายเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ตามหลังอินเดียที่มีปริมาณการส่งออกข้าวมากถึง 14 ล้านตัน ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ซึ่งมีการส่งออกข้าวในปริมาณ 5.72 ล้านตัน

นอกจากนี้ เวียดนามยังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนโดยภาคเอกชน รวมถึงเปิดโอกาสรับการลงทุนจากต่างชาติ เช่น ธุรกิจเบียร์ ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดเวียดนาม ส่งผลให้ผู้ประกอบการเบียร์ท้องถิ่นต้องเร่งกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ซึ่งกำลังการขยายตัวของธุรกิจเบียร์นี้ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างมาก ตัวอย่างโครงการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนในธุรกิจนี้คือ “Anheuser-Busch InBev” ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเบียร์สัญชาติเบลเยี่ยมที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ประกาศการควบรวมธุรกิจกับ SAB Beer ของเวียดนามซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการควบรวมธุรกิจนี้จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตสินค้าที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจและส่งผลดีต่อคุณภาพเบียร์ในตลาดเวียดนามอีกด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ภารกิจการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นก็เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ และดำเนินการอย่างจริงจังจนเกิดผลสำเร็จ โดยเฉพาะในการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับบริบทของการกระทำความผิดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2562 มีคดีทุจริตคอรัปชั่นมากกว่า 200 คดี รวมผู้ต้องหาได้มากกว่า 500 คน ตั้งแต่คดีทั่วไปจนถึงคดีใหญ่ที่มีการยักยอกทรัพย์สินของรัฐรวมมูลค่าหลายสิบล้านล้านด่ง (สกุลเงินของเวียดนาม) ซึ่งผลสำเร็จของการปราบปรามอย่างต่อเนื่องนี้ได้ส่งสัญญาณที่ดีไปยังนักลงทุนต่างชาติให้มีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลเพื่อขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นอกเหนือจากการเอาจริงเอาจังทางด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และการจัดการกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่นแล้ว นโยบายการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของเวียดนามก็ถือว่ามีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน ถึงแม้ลักษณะภูมิศาสตร์ของเวียดนามมีพรมแดนทางเหนือเชื่อมต่อกับจีน ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่มีการระบาดของโคโรน่าไวรัส แต่อัตราการติดเชื้อของเวียดนามมีจำนวนที่ไม่สูงมากนัก ณ ปัจจุบัน เวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดราว 2,500 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการวางมาตรการที่ทันท่วงทีตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การประกาศยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม การระงับเที่ยวบินจากอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 การปิดชายแดนที่เชื่อมต่อกับจีนซึ่งเปิดให้เฉพาะการค้าที่จำเป็นเท่านั้น และการประกาศตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ จากการประกาศใช้มาตรการเข้มข้นเหล่านี้ทำให้เวียดนามสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศได้อย่างเป็นผล ซึ่งส่งผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังสามารถดำเนินไปต่อได้ ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายเข้มข้นทางเศรษฐกิจและการจัดการปัญหาด้านสาธารณสุขที่ว่องไว จึงอาจกล่าวได้ว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่แทบจะไม่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจร้ายแรงเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเวียดนามจะได้รับการยกย่องจากนานาชาติทั้งในเรื่องพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ถึงอนาคตที่สดใดของเวียดนามนับจากนี้ แต่เวียดนามก็ยังคงมีสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาและปฏิรูปอีกมากเช่นกันหากยังต้องการพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาศักยภาพแรงงาน และการจัดทำระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการจ้างงาน เป็นต้น โดยข้อมูลการสำรวจภาคแรงงานในปี 2561 เปิดเผยว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีตลาดแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ ธุรกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์มีแรงงานนอกระบบมากถึง 70.5% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในระบบ หากปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขให้ลดน้อยลงได้ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีในการปรับปรุงภาคแรงงานภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และส่งเสริมไปยังพัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีของประเทศต่อไป

ในอดีต เวียดนามเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าของผู้นำและประชาชนประกอบกับนโยบายที่จริงจังในการพัฒนาประเทศที่ดำเนินมาตลอดหลายปีส่งผลให้ทุกวันนี้เวียดนามสามารถนำพาประเทศก้าวพ้นเส้นความยากจน และได้รับการจัดอันดับอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลฉบับ 5 ปีที่ต้องการเปลี่ยนให้ประเทศให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนภายในปี 2568 ก็ดูจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมแต่ประการใด

โดย ณภัทร ศรีทองเพิง (โตน)
       นักกลยุทธ์นวัตกรรม ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)