สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ชวนทำความรู้จัก "โค้ชนวัตกร" ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนวัตกรรุ่นเยาว์

7 สิงหาคม 2565 2,698

ชวนทำความรู้จัก "โค้ชนวัตกร" ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ของนวัตกรรุ่นเยาว์

#TrainersLabSeries

โครงการ Trainers' LAB ครูอาจารย์ของผู้สร้างนวัตกร

 

NIA ไม่เพียงส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมไทย แต่ยังมุ่งสร้างเยาวชนไทยให้มีทักษะที่สำคัญในการเป็นนวัตกร จนถึงวันนี้ โครงการ Trainer’s Lab ภายใต้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR ได้ขยายเครือข่าย ‘ผู้สร้างนวัตกร’ หรือ ‘โค้ชนวัตกร’ เพื่อผลักดันให้นวัตกรรุ่นเยาว์ไปได้ไกลกว่าที่ฝัน ผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน

 

เทคนิคของ ‘#โค้ชนวัตกร’ ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน มีดังนี้

 

1. "ยินดีฟัง แชร์ได้เลย"
การพูดประโยคนี้เปรียบเสมือนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเยาวชน ลดความประหม่าในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยให้กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น พื้นที่ปลอดภัยยังสร้างง่ายๆ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การชื่นชมสิ่งที่ผู้เรียนทำได้ดีเพื่อให้เกิดความมั่นใจ สร้างบรรยากาศที่มีความเท่าเทียม ทำให้ทุกคนมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชน feedback โค้ช เป็นต้น

 

2. "พี่ฟังอยู่"
เป็นการพูดเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยไม่ลืมที่จะแสดงออกทางภาษากายด้วยการพยักหน้าและมองตาพวกเขาด้วย

 

3. "จากที่ฟังน้องเล่า พี่เข้าใจว่า...."
เมื่อโค้ชพูดทวนสิ่งที่เยาวชนพูด ด้วยคำหรือประโยคที่เขาพูดเอง หรืออาจเรียบเรียงใหม่โดยไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป จะเป็นการช่วยทวนความเข้าใจให้ตรงกันและให้กำลังใจได้ด้วย การแสดงออกแบบนี้ช่วยทำให้รู้สึกปลอดภัยแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจรับฟังและพยายามเข้าใจสิ่งที่พูด

 

4. "พี่ขอถามชวนคิดว่า...."
แทนที่จะชี้แนะตรงๆ ลองปรับมาใช้พยายามเน้นคำถามปลายเปิด หรือ "คำถามชวนคิด" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้คิดและทบทวนความเข้าใจของตัวเอง หรือสร้างความเข้าใจใหม่ร่วมกัน

 

5. ".....(ถามแล้วรอ)......"
เมื่อโค้ชถาม หรือ ปล่อยโจทย์ ให้เยาวชนคิดแล้ว "รอสักครู่" ให้เยาวชนมีโอกาสคิดทบทวน หรือคิดหาคำตอบสักนิด เพราะเราจะได้เห็นมุมมองหรือวิธีคิดใหม่ๆ จากเยาวชน เมื่อเขามีข้อมูลและมีเวลาคิดมากพอ

 

6. คำเป็นมิตร
ทำความเข้าใจพื้นฐานความรู้ของเยาวชนในหัวข้อที่กำลังสอนว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อเลือกใช้คำศัพท์และวิธีการอธิบายที่เหมาะสม บางครั้งโค้ชก็ต้องหาคำง่ายๆ ไม่ใช้ศัพท์เฉพาะ เพื่อให้ผู้เข้าเรียนเข้าใจได้มากขึ้น

 

7. "น้องว่าตอนนี้น้องทำงานอยู่ตรงขั้นไหนแล้ว"
ตลอดกระบวนการพัฒนานวัตกรรม เยาวชนอาจพบข้อมูลและประสบการณ์มากมาย จนทำให้พวกเขาหลุดโฟกัสจากโจทย์หรืออาการ "เมาหมัด" โค้ชจึงควรพยายามประมวลและสรุปประเด็นสำคัญเป็นระยะๆ เพื่อขมวดปมสร้างการเรียนรู้ และให้เยาวชนตามทันว่าตอนนี้กำลังทำอะไร อยู่ที่จุดไหนแล้ว

 

8. "น้องว่าเราทำงานกันได้เป็นอย่างไรบ้าง"
การ “ถามให้สะท้อนย้อนคิด" หลังการเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนได้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนในการทำงานของตนเอง โค้ชสามารถให้ feedback เสริมพลังได้ต่อ โดยหลักการสะท้อนแบบง่ายๆ คือ ให้ผู้เข้าร่วมสะท้อนตัวเองก่อน จากนั้นโค้ชสะท้อนสิ่งที่เยาวชนทำได้ดี และสิ่งที่ควรพัฒนา เน้นที่การการกระทำ/เหตุการณ์ที่สังเกตเห็น

ใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรสามารถติดตามโครงการ Trainers’ Lab เพื่อร่วมเรียนรู้และแชร์เทคนิคที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนไปด้วยกันได้เลย!

ติดตามรายละเอียดของโครงการ “Trainers' Lab” ได้ที่นี่ >> https://steam4i.nia.or.th/page/4