สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“เส้นทางการพัฒนาผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด สู่ผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ”

21 สิงหาคม 2567 4,928

“เส้นทางการพัฒนาผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด สู่ผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ”

“เส้นทางการพัฒนาผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด สู่ผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ”

 

วันนี้เรามีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพวงรัตน์ แสงเพชร์ (พี่รัตน์) ประธานวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เจ้าของผลงาน “ผ้าทอจากเส้นใยสับปะรด” โดยพี่รัตน์ได้แบ่งปันประสบการณ์ การพัฒนาสินค้าชุมชนจากสุดขอบชายแดนทางภาคเหนือ จนได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดนวัตกรรมตัวแทนระดับภูมิภาค และเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ “นิลมังกร The Reality Season 2” รายการที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสแสดงศักยภาพนวัตกรรมท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ

 

“ความสื่อสัตย์และจริงใจตามแบบฉบับของชุมชนเราต้องคงไว้ แต่เราต้องนำนวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างความแตกต่าง เรื่องอะไรที่เราไม่รู้ เราก็ต้องเรียน”

คุณพวงรัตน์ แสงเพชร์ (พี่รัตน์) ประธานวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

คุณพวงรัตน์ แสงเพชร์
ประธานวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R

 

พี่รัตน์เล่าย้อนความตั้งแต่วันก่อตั้ง ให้เราฟังว่า “จริง ๆ แล้ว สินค้าชุมชนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นคล้ายกัน คือ หยิบของที่มีในชุมชน และชวนกันมาทำ ของพี่ก็เช่นกัน กลุ่มวิสาหกิจของเราเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยก่อนหน้านี้พี่ทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้กลับบ้านที่จังหวัดเชียงราย เราพบว่าแถวนี้ปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเยอะ ในส่วนผลสับปะรดไม่มีปัญหา หวานฉ่ำ ขายได้ราคา แต่เราเห็นปัญหาในเรื่องของใบสับปะรด ใบที่มีการตัดแต่งนั้น มีความหนา แข็ง นำไปผลิตอาหารสัตว์ก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องเผาทิ้ง หรือไถกลบ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ พอเห็นขยะจากใบสับปะรดแบบนี้ เราที่โดยส่วนตัวมีพื้นฐานใจรักด้านแฟชั่น ก็เลยเกิดไอเดียผลิตเส้นใยจากใบสับปะรด ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า ของแต่งบ้าน รวมถึงของที่ระลึกมากมายด้วย เพราะข้อดีของวัสดุเส้นใยสับปะรดนี้คือ มีความยืดหยุ่น แต่ไม่หักงอ มีความคงทนแข็งแรง ฝุ่นไม่เกาะ และต้านแบคทีเรียส่งผลให้ไร้กลิ่นอับ” และเมื่อเราถามเรื่องกำลังการผลิตในระดับชุมชนที่มีค่อนข้างจำกัด หากลูกค้าสั่งซื้อหรือขอให้ผลิตสินค้าจำนวนมากจะทำตามออร์เดอร์ทันได้อย่างไร พี่รัตน์ตอบว่า “ส่วนใหญ่ลูกค้าเราจะเข้าใจ เขารู้ว่า สินค้าจากชุมชนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนการผลิตระดับอุตสาหกรรม หากเส้นใยเราไม่มีสีเพียงพอ เราจะเสนอสีใกล้เคียง แต่พี่คิดว่านี่คือเสน่ห์ของงานคราฟต์” เมื่อได้ยินคำตอบนี้ เรารู้สึกชื่นชมพี่รัตน์ที่สามารถพลิกมุมมองต่อปัญหาอุปสรรคให้กลายเป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ได้

 

 

“เราออกแบบและผลิตสินค้าในชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกิดการกระจายรายได้ไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 7-8 กลุ่ม โดยตอนนั้นกิจการของเราไปได้พอประมาณ แต่บังเอิญเราได้เห็นประกาศรับสมัครโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม – Idea Hacks ของ NIA เราก็สมัครและดีใจที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ซึ่ง ณ ขณะนั้นเรายังใช้วิธีผลิตเส้นใยด้วยวิธีการดั้งเดิม ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากใช้เวลานาน ทำให้เส้นใยเกิดความเสียหายเยอะ เมื่อได้เข้าร่วมในโครงการ จึงมีโอกาสได้พบวิทยากรเก่ง ๆ ที่มาช่วยอบรมวิธีการคิดในกระบวนการทำธุรกิจ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้นตลอดหลักสูตร ทำให้เราค้นพบจุดอ่อนในกระบวนการผลิตของเรา จนเป็นเป้าหมายที่เราเริ่มตีกรอบไอเดีย และเริ่มมองหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างเครื่องสางเส้นใยสับปะรดแบบเคลื่อนที่ และเครื่องรีดอัด-ขึ้นรูปใบสับปะรด ที่ออกแบบและผลิตโดยฝีมือคนไทย ซึ่งเครื่องเหล่านี้ เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ต่อมาเราได้รับทุนสนับสนุนจาก NIA และได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการพัฒนาออกแบบอัตลักษณ์ และการออกแบบเครื่องจักร โดยคณะอาจารย์ที่ปรึกษา จากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

 

พี่รัตน์เล่าต่อว่า “นอกจากแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแล้ว สิ่งที่พี่รัตน์ภูมิใจมากอีกอย่าง คือการฝึกวิธีการนำเสนอโครงการ ซึ่งได้โอกาสฝึกฝนพัฒนาตนเองตั้งแต่การเข้าร่วมโครงการกับ NIA ที่มาช่วยตอกย้ำการสร้างแนวคิดที่ว่า สินค้าดีมีอยู่ทุกที่ แต่วิธีการนำเสนอสินค้าให้โดนใจ จะทำให้เราโดดเด่น ถ้าพูดตรง ๆ เราก็คือชาวบ้านธรรมดา จากที่เราไม่เคยคิดว่าการนำเสนอสินค้าภายใน 1 นาทีจะเป็นไปได้ แต่ถูกบ่มเพาะ โดยทีมงาน NIA รวมถึงอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในโครงการ ที่เคี่ยวเข็ญจนเราสามารถทำได้ พอเราได้โอกาสเรียนรู้ เรากลับไปฝึกฝน ฝึก ๆ ๆ ทุกวัน จนสามารถนำเสนออัตลักษณ์ของสินค้าเราได้อย่างเฉียบคมภายใน 1 นาทีจริง ๆ หลังจากนั้นเราก็มั่นใจในตัวเอง ต่อจากนี้นำเสนอที่ไหน จะกี่นาที ก็ไม่มีกลัว”

 

โอกาสมักมาหาคนที่เตรียมพร้อมเสมอ ...แต่อาจจะต้องผ่านการทดสอบด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2566 วิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R ได้เข้าร่วมประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย จากผู้เข้าสมัครกว่า 450 ทีม สุดท้ายวิสาหกิจของพี่รัตน์ได้ผ่านการคัดเลือก โดยติด 1 ใน 5 กลายเป็นตัวแทนนวัตกรของภาคเหนือ และเข้าร่วมแข่งขันในรายการ “นิลมังกร The Reality Season 2” รายการทีวีในรูปแบบการแข่งขันชิงสุดยอดนวัตกรรมไทยจากทุกภูมิภาค ซึ่งได้ออกอากาศทางช่อง 3 HD และสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ทาง YouTube: NIA Channel

 

 

พี่รัตน์ย้อนความให้เราฟังว่า “มันเหมือนฝันเลย ก่อนที่เราจะได้รับการติดต่อ 1 วัน ว่าเราได้รับคัดเลือกและเราจะได้ไปออกทีวี โรงงานของเราถูกฟ้าฝ่า เกิดไฟไหม้ ซึ่งเครื่องมือหลักและสินค้าที่เราผลิตไว้ ไหม้ไปจนหมดสิ้น ไม่เหลืออะไรเลย ตอนนั้นเราร้องไห้ ท้อแท้ เหมือนทุกอย่างที่เราทำมามันหายไปหมดแล้ว เรามัวแต่เสียใจ จนเราเกือบจะถอดใจ สภาพจิตใจตอนนั้น ถ้าจะให้ไปออกทีวี เราไม่อยากไป แต่ต้องขอบคุณพี่น้อง สมาชิกในวิสาหกิจชุมชนมาก ๆ เพราะตอนนั้นทุกคนมาเป็นกำลังใจ ทำกับข้าวมาให้ มาดูแลกัน ทุกคนไม่กดดัน แต่บอกว่าจะอยู่เคียงข้างกับพี่รัตน์ จะร่วมกันสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาใหม่ โดยพร้อมสร้างไปด้วยกัน ณ จุดนั้นเราก็ค่อย ๆ มีกำลังใจ และก็ตัดสินใจเตรียมตัวไปแข่งในรายการ ... ถ้าไม่มีสมาชิกที่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็คงไม่มีพี่รัตน์ที่ยืนหยัดอยู่ได้ในวันนี้” พี่รัตน์เล่าไป น้ำตารื้นไป

 

เมื่อโอกาสมาถึง พี่รัตน์ก็แสดงฝีมือเต็มที่ และไม่ได้ไปในฐานะไม้ประดับ แต่ยังสามารถคว้า 3 ผ่านจากกรรมการมาได้อีกด้วย “เราเตรียมตัวเต็มที่ ฝึกซ้อมอย่างหนัก เรายังพูดซื่อ ๆ หนักแน่น และจริงใจ ไม่มีศัพท์เทคนิค แต่เรารู้ว่าเราจะต้องพูดจุดเด่นของเรา ที่ไม่ใช่แค่เป็นสินค้า BCG แต่เราเป็นสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์ และมีอัตลักษณ์ โดยมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า A&R ได้รายได้เพียงกลุ่มเดียว แต่เครือข่ายทั้งหมดของเราจะต้องโตไปพร้อมกัน ทั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มจักสาน กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าและกระเป๋า กลุ่มย้อมสี กลุ่มปักผ้าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน เรากระจายรายได้ไปยังกลุ่มต่าง ๆ ถึง 70% ซึ่งพี่รัตน์คิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เราชนะใจกรรมการ เพราะตรงกับวัตถุประสงค์รายการ คือ การตอกย้ำจุดแข็งเรื่อง Local brand เพื่อสร้างเศรษฐกิจภูมิภาค

จากวันที่ได้ออกรายการทีวีระดับประเทศ จนมาทุกวันนี้ วิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R จังหวัดเชียงราย มีคนเข้ามาแวะเยี่ยมชมดูงานไม่ขาดสาย มีจำนวนคนสั่งสินค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน และของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น และเวลาว่างน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเป็นงานของ NIA เมื่อไร พี่รัตน์ยังคงยินดีมาร่วมงานกับเราเสมอ โดยล่าสุดในงาน SITE 2024 พี่รัตน์ก็ได้มาเป็นวิทยากรร่วม ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ตามบริบทชุมชนเชิงพื้นที่” ด้วย และเมื่อมีโอกาสได้กล่าวทักทาย พี่รัตน์ยังน่ารักกับเราเช่นเดิม พร้อมชวนเราไปเที่ยวจังหวัดเชียงรายด้วย และบอกกับเราว่า “พี่รัตน์เอง ไปไหนก็บอกตลอดว่า NIA คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพี่รัตน์ ทั้งให้แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ให้ทุนสนับสนุน และที่สำคัญคือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันนี้สำคัญมาก ยุคสมัยเปลี่ยนไปเร็วมาก ดังนั้นเราต้องขวนขวายเรียนรู้ เมื่อเราฝึกจนเชี่ยวชาญมันจะติดตัวเราไปตลอด และสามารถประยุกต์ต่อไปในอนาคตได้ แต่ละชุมชนมีบริบทของตนเอง การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีล้ำสมัยอาจจะไม่ได้ยั่งยืน เพราะผู้ใช้งานอาจจะตามไม่ทัน แต่การพัฒนาอัตลักษณ์ในพื้นที่ให้โดดเด่น จับมือชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างจุดขายให้ตัวเอง พี่รัตน์คิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้นวัตกรรมเข้าถึงชุมชนได้จริงและยั่งยืน”

 

วันนี้เราได้เรียนรู้จากพี่รัตน์หลายอย่าง นอกจากเรื่องการขวนขวายและทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้สินค้าจากวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R แตกต่างจากที่อื่น ก็คือ การนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพราะสินค้าในชุมชนนั้นมีอัตลักษณ์เป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มเติมคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้นก็ทำให้สินค้านั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

 

ช่องทางติดตาม:
Facebook: Poungrat Sangpench >> https://www.facebook.com/nampech.munchana, โทรศัพท์: 098-663-3949
ขอขอบคุณรูปภาพจากรายการ “นิลมังกร The Reality Season 2” >> https://youtu.be/G8q78a3CP4k?si=dxEM6106SpnMNpjR 

 

ขอขอบคุณที่ปรึกษาโครงการนวัตกรรม จาก วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  1. ผศ.ดร.เฉลิมพล คงจิตต์ กรรมการบริหารหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา
  2. ผศ.ดร. สมเกียรติ น่วมนา ผู้ช่วยคณบดี
  3. นายธีรพงศ์ ทองพันธุ์ วิศวกรชำนาญการ และอาจารย์พิเศษ
  4. นางสาวอุรชา วันเมือง ผู้ประสานงานโครงการ

 

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก

คุณพวงรัตน์ แสงเพชร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)

นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)