สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เรื่องเล่า...ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม กรณีศึกษาชุมชนคลองปากประ จังหวัดพัทลุง

2 มิถุนายน 2566 29,878

“เสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนจากความหลากหลายทางชีวภาพ”

กรณีศึกษาชุมชนคลองปากประ จังหวัดพัทลุง

 

จังหวัดพัทลุง เป็นที่ขึ้นชื่อได้ว่าเต็มไปด้วยทิวทัศน์อันงดงามจากธรรมชาติ ดั่งคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน” โดยมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงอย่างคลองปากประ ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ของจังหวัดพัทลุง เกิดจากการรวมกันของลำน้ำหลายสายที่ไหลมารวมกันที่นี่ ก่อนจะไปบรรจบที่ทะเลสาบสงขลา นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุงเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งป่าพรุขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำที่เอาไว้ใช้ในทางการเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งประมงที่สำคัญมีสัตว์น้ำจำนวนมากอาศัยอยู่ อาทิ ปลาลูกเบร่ ปลาดุก

 

ชุมชนที่อาศัยใกล้คลองปากประใช้ชีวิตคู่วิถีการประมงและการเกษตรอันเรียบง่ายมาอย่างยาวนาน จะเห็นภาพของชุมชนใช้ยอยักษ์จับปลาลูกเบร่ พร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับแสงแรกของวัน ชื่นชมนาเลและควายน้ำในทะเลน้อย ด้วยเหตุนี้คลองปากประจึงเป็นศูนย์รวมของสัตว์น้ำนานาชนิดเข้ามาอาศัย นับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ชาวบ้านกว่า 6,977 ครัวเรือน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมคลองปากประจึงมีอาชีพการทำประมง เกษตร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น บ้างใช้พื้นที่สร้างที่พักเล็กๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้สัมผัสกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนผู้คนในท้องถิ่นได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลายเป็นเสน่ห์ของชุมชนคลองปากประ ที่มีความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

ยอยักษ์คลองปากประ

แต่ในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่คลองปากประยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากนัก จากการศึกษาพบว่า การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลยุทธ์ทางด้านการตลาด รวมถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ยังขาดการบริหารจัดการที่มีคุณภาพเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลังจากพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดต่อโควิด 19 กลับพบว่าเริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ชมวิถีชีวิต และเลือกซื้อสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะต้องเร่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่

 

ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงได้นำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ไปแก้ไขปัญหา ที่สามารถตอบโจทย์จากพื้นที่เป้าหมายได้จริง ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย และยกระดับคุณภาพสินค้าหรือบริการในพื้นที่ชุมชนคลองปากประ จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองพัทลุง และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ในการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนการผลิตและแปรรูปสินค้าชุมชน ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ พื้นที่คลองปากประ จังหวัดพัทลุง ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ จึงมีการดำเนินโครงการ “Long Tour Pak Pra” ที่เป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนคลองปากประ โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่เว็บไซต์นำเสนอข้อมูลการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมศักยภาพการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อเข้ามายังพื้นที่คลองปากประและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถสร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดคือ กลยุทธ์ด้านการตลาดดิจิทัลและกระบวนการทำ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งจะทำให้แพลตฟอร์มนี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากที่สุด

ลองทัวร์ปากประ

 

ทั้งนี้ เมื่อนึกถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่แล้ว การเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ถือเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีหลักคิดสำคัญว่า เที่ยวอย่างไรถึงได้รับความสะดวกสบาย สนุกสนาน แต่ว่าปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด โดยการนำเอาโครงการ บ้านชายคลองปากประ: การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการวัดผลปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวและสร้างจุดเด่นให้กับการท่องเที่ยวของกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนคลองปากประ ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางอย่างรับผิดชอบมาสู่ชุมชน ส่งผลให้นักท่องเที่ยว สถานประกอบการในพื้นที่ และชุมชนร่วมกันลดผลกระทบเชิงลบ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับพื้นที่

บ้านชายคลองปากประ

 

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ชุมชนคลองปากประ ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างมาก แต่ในระหว่างช่วงปัญหาโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในด้านราคาของพืชผลในการเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด และเน่าเสียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้นำโครงการ นวัตกรรม สารชีวภัณฑ์เชื้อไตรโคเดอร์มา เพื่อกำจัดเชื้อราสำหรับพริกขาวชัยบุรี โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารชีวภัณฑ์การเพาะเชื้อไตรโคเดอร์มา มาใช้ในระบบการผลิตเกษตรปลอดภัย เพื่อกำจัดเชื้อโรคในพริก โดยการนำไปใช้ในกระบวนการปลูก ได้แก่ การผสมวัสดุปลูก และการผสมน้ำฉีด เพื่อให้ต้นพริกแข็งแรงไม่ประสบปัญหาการเกิดโรคและแมลง ต้นทุนการผลิตต่ำ ลดการใช้สารเคมี และคุณภาพของผลผลิตสูง นอกจากนี้ได้นำเอาโครงการ Local A lot: นวัตกรรมการออกแบบสินค้าจากอัตลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชน โดยการนำเอากระบวนการออกแบบและพัฒนาสินค้าร่วมกับชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นการนำเอาอัตลักษณ์และเสน่ห์ของชุมชนมาออกแบบสินค้าใหม่ สามารถช่วยยกระดับสินค้าชุมชน เช่น ชาเกสรบัวหลวง อีกทั้งยังคำนึกถึงการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่จะทำให้ชุมชนได้เห็นถึงประโยชน์และร่วมรักษาทรัพยากรอันมีค่าไว้ และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ส่งผลให้การดำเนินกิจการของชุมชนสามารถเติบโตและสร้างรายได้ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ชาเกสรบัวหลวง

จากการดำเนินงานชุมชนคลองปากประ จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม นับว่าเป็นตัวอย่างรูปแบบกระบวนการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ในการสร้างรายได้ ลดการว่างงาน และสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน ก่อให้เกิดความยั่งยืนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น โดยการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการอาศัยกลไกการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าชุมชน ซึ่งในอนาคต แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนคลองปากประ อาจไม่ใช่เพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองอีกต่อไป แต่อาจเป็นหมุดหมายหลักและหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่งผลให้จังหวัดพัทลุงสามารถนำการท่องเที่ยวชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพมาสร้างรายได้ให้จังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

บทความโดย
ณรงค์ธร เนื้อจันทา (กอล์ฟ) 
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)