สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

กลไกการร่วมลงทุนจาก ธ.ก.ส. เร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเติบโตร่วมกับ New Gen Smart Farmer

News 4 เมษายน 2565 2,410

กลไกการร่วมลงทุนจาก ธ.ก.ส. เร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเติบโตร่วมกับ New Gen Smart Farmer


ภาคการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ก็มีปัญหามากมายที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจึงเป็นตัวแทนแนวคิดใหม่ๆ ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหา รวมทั้งต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งต้องอาศัยระบบนิเวศน์ที่แข็งแรงในการสนับสนุนผ่านเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา NIA ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการให้เงินทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ครั้งที่ 3 โดยมีนายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย NIA กล่าวเปิดงานว่า 

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเทศเพื่อตอบรับนโยบาย BCG ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรและอาหารของประเทศไทยที่ถือเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังต้องการการสนับสนุนและผลักดันจากทุกภาคส่วนในระบบนิเวศ ทาง NIA จึงมีความคาดหวังว่ากิจกรรมการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและกิจกรรมบ่มเพาะเร่งสร้างการเติบโต และกิจกรรมต่างๆ  จะสามารถผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มขีดความสามารถในการขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติ

คุณจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ธ.ก.ส. มีความมุ่งหวังให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีความรู้ความเข้าใจในการขอทุน ร่วมลงทุน ขยายธุรกิจ โดยมี ธ.ก.ส. เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสตาร์ทอัพกับเกษตรกร อีกทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้กรอบการดำเนินงาน“วิจัยนำ พัฒนาตาม สินเชื่อสนับสนุน สู่ตลาดปลายทาง” แต่เกษตรกรรุ่นเก่ามีความสามารถในการเข้าถึงหรือเข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้จำกัด จึงไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้จริง ทาง ธ.ก.ส. จึงมองหากลไกการแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรรุ่นใหม่หรือที่เรียกว่า New Gen Smart Farmer นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเข้ามามีส่วนในการพัฒนา ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

โดย ธ.ก.ส. ได้มีกลไกการร่วมลงทุนไปยังสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขั้นแรกจะมีการอบรม เพื่อเตรียมตัวนำเสนอผลงานให้แก่คณะกรรมการ เมื่อผ่านเข้ารอบแรกแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นการ Due Diligence เพื่อประเมินแนวโน้มความเป็นไปได้ทางธุกรกิจและตีมูลค่าของธุรกิจ เพื่อนำเสนอการร่วมทุนกับคณะกรรมการการร่วมลงทุน ต่อไป

โดยในปี 2565 กลุ่มธุรกิจที่ทาง ธ.ก.ส. ให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มธุรกิจอาหาร สมุนไพร และเกษตรมูลค่าสูง จึงถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมพร้อมใช้ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้แสดงฝีมือให้เป็นที่รู้จักกับแหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. เตรียมตัวกันให้พร้อมไว้ได้เลย จะเปิดรับการเสนอแผนธุรกิจเร็วๆ นี้

นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจด้านกลไกการสนับสนุนทางการเงินจาก ธ.ก.ส. แล้ว ยังมีการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ประกอบการ 2 รายที่ได้รับการร่วมลงทุนจาก ธ.ก.ส. ในปี 2564 ได้แก่ คุณทรัพย์วรา เจริญพานิชสกุล CMO Co-founder FarmBook และ ดร. ธีรยุทธ โหรานนท์ Co-Founder Infuse ทั้งสองท่านมีจุดร่วมที่สามารถดึงดูดผู้ลงทุนได้จากแนวคิดที่ว่า “สตาร์ทอัพจะโตได้ต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจ” นอกจากนี้คุณทรัพย์วราได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การดึงดูดนักลงทุนนั้นคุณต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนปิดจุดเสี่ยงทุกทาง อีกทั้งความแข็งแกร่งของทีมก็เป็นอีกจุดสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาของนักลงทุน ในส่วนของ ดร. ธีรยุทธ์ ให้ความเห็นว่า “ความแตกต่างและความยั่งยืน” เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาธุรกิจในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้งบประมาณที่ได้มาเพื่อพัฒนาโปรเจคอาจมีสายป่านไม่ยาวพอทำให้มีการสะดุดในการดำเนินกิจการ จึงมีความจำเป็นต้องหาพันธมิตรในการทำให้โปรเจคโตซึ่ง ธ.ก.ส. ถือเป็นพันธมิตรที่เหมาะกับการขยายแผนงานในระยะยาว

ปิดท้ายด้วยคุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA ได้กล่าวสรุปว่า 

ในปี 2565 มีหลากหลายกิจกรรมที่จะร่วมสนับสนุนการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ ที่กำลังจะประกาศรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนนี้ ทั้งในระยะแรก problem-solutions fit ที่มุ่งเน้นการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรรายใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AgTech AI ส่งต่อให้กับระยะต่อไป product-market fit ที่จะเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในระยะเริ่มต้นที่มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบแล้วเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อปรับธุรกิจสู่การเติบโตในโครงการ Inno4Farmers และในระยะ business-market fit ที่การขยายสู่ตลาดสำหรับสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้สำหรับเกษตรกรและธุรกิจ ในโครงการ AgTech Connext พร้อมเพิ่มศักยภาพการปรับกลยุทธ์สู่การเติบโต พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการขยายตลาดได้อย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกันแต่ละกิจกรรมด้วย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่เข้มแข็ง สามารถติดตามข่าวประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมจากทางเว็บไซต์และสื่อประชาสัมพันธ์ของทาง NIA ได้ต่อไป

สามารถชมย้อนหลังได้ที่

แหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร Source of fund for AgTech Startup series 3” [1/2]


แหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร Source of fund for AgTech Startup series 3 [2/2]

#NIA #BAAC #FarmBook #Infuse #AgTechStartup #Investor #Innovation