สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
นวัตกรรมมิใช่งานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ เนื่องจากนวัตกรรมต้องเกิดจากการนำองค์ความรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงไปใช้งานจริงเท่านั้น
สำหรับผม คำว่า “นวัตกรรม” หากแปลตรงตัว นวต + กรรม แปลว่า “การกระทำใหม่” แต่ในบริบทของภาคธุรกิจแล้ว “นวัตกรรม” คือการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลง โดยคุณค่าที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีนัยยะทางเศรษฐกิจหรือสังคมก็ได้ ทั้งนี้ นวัตกรรมมิใช่งานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ เนื่องจากนวัตกรรมต้องเกิดจากการนำองค์ความรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงไปใช้งานจริงเท่านั้น
ปัจจุบันผมทำงานที่ สนช. ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม รับผิดชอบในการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคม ตลอดจนพิจารณาการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านกลไกต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังดำเนินการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการแสวงหาและพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์เชิงสังคมของประเทศ
ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่านมาในการทำงานกับ สนช. เป็นโอกาสให้ผมได้สั่งสมประสบการณ์ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดการนวัตกรรม การบริหารโครงการนวัตกรรม นวัตกรรมด้านเกษตรอินทรีย์ นวัตกรรมพลังงานทดแทน นวัตกรรมเพื่อสังคม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development) ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้สามารถถ่ายทอดและแชร์สู่ทีมงานได้เป็นอย่างดี
ก่อนมาทำงานที่ สนช. ผมมีโอกาสเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ดำเนินการโครงการวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาทิการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) การจัดการของเสียและความปลอดภัย การเขียนโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมแน่นอนว่าการพัฒนาโครงการนวัตกรรมนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว ซึ่งอัตราการล้มเหลวก็สูงมากเสียด้วย ที่ผ่านมาจึงมักต้องเผชิญกับปัญหาโครงการไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ดังนั้นการนำบทวิเคราะห์สาเหตุแห่งความล้มเหลวมาปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานจะทำให้การพัฒนาโครงการนวัตกรรมเป็นไปในทิศทางที่ครอบคลุมมิติที่กว้างและลึกขึ้น อัตราส่วนความสำเร็จของโครงการจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนความท้าทายในงานที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้คือการทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อสังคมจากองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศ รู้จัก สนช. ถึงบทบาทใหม่ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสังคมของประเทศไทย ตลอดจนเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ความท้าทายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหน่วยงานที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมก็คือองค์กรของเราเองก็ต้องมีการทำนวัตกรรมเช่นกัน มิเช่นนั้นการจะไปส่งเสริมให้องค์กรอื่นทำนวัตกรรมก็จะดูย้อนแย้งและขาดความน่าเชื่อถือได้
ในส่วนของไอเดีย หรือแรงบันดาลใจในการทำงานเรื่องนวัตกรรมมักจะมาจากการได้เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการกับผู้ประกอบการ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่อเราพัฒนาโครงการจำนวนมาก เราจะได้รับไอเดียที่หลากหลายและสามารถนำมาผนวกรวมหรือเชื่อมโยงสหสาขาวิชาให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้ค่อนข้างง่าย นอกจากนี้การศึกษาแนวโน้มด้านนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ตลอดจนการศึกษาดูงานก็เป็นช่องทางสำคัญที่จะได้ไอเดียมาใช้ในการทำงาน
เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานก็ใช้เวลาว่างไปกับการเดินทางท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเสมือนเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ในการกลับมาทำงานได้ดีที่สุด นอกจากนี้ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของงานที่ทำอยู่ได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะด้านการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ส่วนงานอดิเรกที่ผมถนัดคือการเขียนบทความและการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจนวัตกรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งทักษะการสื่อสารผ่านทางบทความนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่งานของ สนช. ให้สาธารณชนรับรู้ในวงกว้างได้เป็นอย่างดี เมื่อนวัตกรรมมักมาคู่กับความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทุกความคิดริเริ่มในการพัฒนาโครงการและการปรับกลไกการสนับสนุนโครงการย่อมทำไปเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลกระทบสูงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนวัตกรรมเพื่อสังคมจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับ Theory of Change อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผมเชื่อว่า นวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อทุกองค์กรในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมเพื่อสังคมจะมิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป