สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ร่วมเป็นเครือข่ายสตาร์ทอัพด้านการเกษตรเพื่อพลิกโฉมด้านการเกษตรของประเทศไทย
NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center ได้จัดงาน Dinner Talk เพื่อรวมพล AgTech Startup Community รวมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมงาน F&A Next 2019 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
เริ่มงานด้วยคุณปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม กล่าวถึงกลไกและแนวทางการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพการเกษตร (AgTech Startup) ซึ่งจะเป็นกำลังที่สำคัญ ที่จะมาตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาทางการเกษตรของประเทศไทย เกิดแนวทางการประยุกต์ใช้นวัตกรรม เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สามารถเกิดพลิกโฉมรูปแบบการเกษตรของประเทศไทย (AgTech Transformation) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนที่จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร คือการส่งเสริมให้เกิด community ของผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรจะร่วมส่งเสริมและผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป
ต่อจากนั้นเป็นการบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองจาก คุณมหิศร ว่องผาติ หรือคุณช้าง จาก H.G. Robotics และ คุณภุชงค์ วงษ์ทองดี หรือคุณอาร์ม จาก Evergrow สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ สนช. สนับสนุนให้เข้าร่วมงาน F&A Next 2019 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งงานดังกล่าวเป็นการจัดโดยภาคส่วนที่สำคัญด้านการสร้างสตาร์ทอัพเกษตรของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ Rabobank, Wageningen University Research, Anterra Capital และ Startlife มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายของการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในสหภาพยุโรป โดยทั้งสองท่านได้เล่าถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ว่า พื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไทยมีมากกว่าประเทศเนเธอร์แลนด์ถึง 12 เท่า แต่ว่าประเทศเนเธอร์แลนด์มีประสิทธิภาพทางการเกษตรมากกว่าถึง 20 เท่า นั่นเพราะมีหลายปัจจัยที่สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการพัฒนา รวมทั้งมุมมองความเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในสายเลือดของชาวเนเธอร์แลนด์ รวมถึงการมองผลของความยั่งยืน อย่างการลงทุนที่จะมองการคืนทุนมากกว่า 10 ปี ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศได้อย่างมากมายจนสามารถส่งออกด้านการเกษตรเป็นอันดับ 2 ของโลก
โดยภายในงาน F&A Next เป็นการจัดงานสัมมนาค่อนข้างแตกต่างกับงานที่จัดในประเทศไทย คือ มีบูธสตาร์ทอัพไม่มาก แต่เน้นการนัดพบกับนักลงทุนจริงๆ ทางทีมสตาร์ทอัพที่ร่วมงานต้องทำการบ้านพอสมควรว่านักลงทุนเป้าหมาย มีใครบ้าง แล้วเราอยากเจอกับใครบ้าง ผ่านระบบการนัดหมายล่วงหน้า เพราะนักลงทุนที่มางานก็สนใจและอยากลงทุนในสตาร์ทอัพอาหารและเกษตรจริงๆ ทั้งสองทีมมีโอกาสได้พบกับลงทุนหลายใหญ่ในยุโรปหลายเจ้า เช่น Terra Capital, Demeter หรือ Food shot นอกจากนี้ทั้งสองท่านได้ปิดท้ายว่า ในประเทศเนเธอร์แลนด์ คนทำสตาร์ทอัพจำนวนมากเป็นศาสตราจารย์ คนจบปริญญาเอก นักวิจัยหลังจบปริญญา (Post-doc) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนทำวิจัยส่วนมากเล็งเห็นถึงความสำคัญทางการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำให้เกิดธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม เป็นแรงผลักดัน startup ecosystem ต่อไป เพราะฉะนั้นการทำสตาร์ทอัพ ไม่มีคำว่าสายไปทั้งนั้น เพียงแต่เราต้องอดทนและมี passion ในการผลักดันผลิตภัณฑ์ที่เราอยากให้เกิดขึ้นจริงขึ้นมา
นอกจากกลไกการให้ทุนสตาร์ทอัพแล้ว สนช. ยังมีโครงการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถที่จะขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศและได้รับการลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างศักยภาพให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืน ด้วยการออกแบบกิจกรรมให้สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่มีการดำเนินการแล้วมานำเสนอแนวทางการแก้ไขกับหัวข้อที่กำหนด เรียกโครงการสั้นๆ นี้ว่า AgTech Battle โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้นให้สามารถเข้าใจถึงวิธีการระดมทุน เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ ทักษะการเจรจาธุรกิจกับนักลงทุน ทักษะที่จำเป็นสำหรับการหาหุ้นส่วน เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรให้สามารถออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งให้สามารถได้รับการลงทุนจากนักลงทุน ซึ่งทำให้มีศักยภาพพร้อมที่ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดร่วมกับนักลงทุนในระดับต่างๆ โดยเปิดรับสมัครแล้ว ตั้งแต่วันนี้ – 17 มิถุนายน 2562 ส่งรายละเอียดของบริษัท พร้อมทั้งแผนธุรกิจและการลงทุน (Pitch Deck) ผ่านทางออนไลน์ได้ https://joo.gl/HdJI และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nia.or.th/agtechbattle