สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

รมว.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่

News 5 เมษายน 2561 2,788

จังหวัดปัตตานี - ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้ (YES) และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพร่วมกับคนในพื้นที่ และเยี่ยมชม Co-working space ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาใช้บริการ ทั้งการนั่งทำงาน สืบค้นข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจของชายแดนใต้ระหว่างกันเอง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในกระทรวงหลักที่มีภารกิจในการผลักดันระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับ “ประเทศไทย 4.0”
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น สำหรับ “โครงการ “การส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่และวิสาหกิจเริ่มต้นในภูมิภาคชายแดนใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจสูง แต่ยังขาดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ที่จะนำมาซึ่งการสร้างเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผลการประชุมร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถสรุปแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคชายแดนใต้ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มการเกษตรและอาหาร 2) กลุ่มธุรกิจภาครัฐและการศึกษา และ 3) กลุ่มไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว และสื่อ”

รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาสตาร์ทอัพให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังเดินหน้าในการพัฒนาและส่งเสริมเทคสตาร์ทอัพ เริ่มต้นด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ เสริมสร้างความรู้ ส่งเสริมให้เกิดแนวคิดธุรกิจใหม่ วางแผนการดำเนินธุรกิจ และสุดท้ายต้องเร่งการเติบโตของธุรกิจโดยการขยายตลาด และเพิ่มรายได้ด้วยกลยุทธ์การตลาดผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการในรูปแบบของ 8 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 สร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่สาธารณชน
กิจกรรมที่ 2 พัฒนาระบบนิเวศสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ
กิจกรรมที่ 3 การพัฒนาระบบนิเวศและกลุ่มอุตสาหกรรม
กิจกรรมที่ 4 สตาร์ทอัพภูมิภาค
กิจกรรมที่ 5 STARTUP THAILAND CONNECT
กิจกรรมที่ 6 ย่านนวัตกรรม
กิจกรรมที่ 7 ฐานข้อมูลสตาร์ทอัพและการประเมินผลกระทบ
กิจกรรมที่ 8 ความง่ายในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้นำเสนอการจัดทำแผนในการพัฒนา 3 ส่วน ได้แก่ 1) โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อทีม จำนวน 10 ทีมต่อปี 2) โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปสู่ประชาคมอาเซียน ในกรอบวงเงิน 500 ล้านบาท โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างและกระจายเทคโนโลยีที่พัฒนาได้จากหน่วยงานต่างๆแก่ผู้ประกอบการไทยสนับสนุนต่อมาตราการส่งเสริมพัฒนาแนวคิดด้านนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ในอนาคตครอบคลุมวงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และ 3) การสนับสนุนโอท็อปซึ่งจะร่วมกับ 5 หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเครือข่ายดำเนินงาน “คูปองวิทย์เพื่อ OTOP” เพื่อผลักดันการยกระดับสินค้าโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับการทำโครงการต้นแบบ การทดสอบระดับนำร่อง จนถึง การผลิตในเชิงพาณิชย์ ด้วยวงเงินสนับสนุน 1 ล้านบาทต่อโครงการ