สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

นวัตกรรมท่องเที่ยว กับโอกาสการพลิกฟื้นหลังวิกฤตโควิด

บทความ 28 พฤษภาคม 2564 8,997

นวัตกรรมท่องเที่ยว กับโอกาสการพลิกฟื้นหลังวิกฤตโควิด


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในทั่วโลก หลายประเทศตัดสินใจประกาศมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้น รวมถึงในประเทศไทยก็เช่นกัน จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมการท่องเที่ยว (TravelTech) อาจเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหานี้ด้วยการเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถพลิกฟื้นจากวิกฤตและสร้างเม็ดเงินกลับขึ้นมาได้ ซึ่งการใช้นวัตกรรมการท่องเที่ยวจะต้องมีการประยุกต์ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) Internet of Things (IoT) เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเทคโนโลยีการจดจำ (Recognition Technology) ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ภาครัฐเผยถึงแนวทางการฟื้นการท่องเที่ยวไทยที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 โดยนำร่องให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ทดลอง (Sandbox) คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งนวัตกรรมการท่องเที่ยวสามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการติดตามและป้องกันการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจออกนอกพื้นที่ควบคุมหรือก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อระลอกใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อประเมินความเสี่ยงและเฝ้าระวังสังเกตอาการในช่วงระยะแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย การติดตามสถานที่พํานักหรือการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ นวัตกรรมจะช่วยให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการผ่านแพลตฟอร์มและสมาร์ทโฟน สามารถเข้าไปค้นหาสิ่งเหล่านี้ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้จ่ายเร็วขึ้นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา หรือการเข้าไปในสถานที่ที่มีความแออัด และที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เศรษฐกิจ การค้า และคนท้องถิ่นมากกว่า 80% ต้องพึ่งพาการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการตั้งแต่รายใหญ่ลงไปจนถึงรายย่อยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกิจกรรมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกันดีคือ “Full Moon Party” เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกให้กับเกาะพะงันก็ว่าได้ และบางกลุ่มเชื่อว่า Full Moon Party เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะยกระดับให้เป็นกิจกรรมระดับโลกได้ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวนวัตกรรมการท่องเที่ยวสามารถผสมผสานเทคโนโลยี AR และ VR เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลเชิงเสมือนผสมผสานกับโลกแห่งความเป็นจริงด้วยการนำบรรยากาศของ Full Moon Party มาจัดทำเป็นรูปแบบวิดีโอสามมิติแบบ 360 องศา เพื่อให้ผู้ที่ชมจากทั่วทุกมุมโลกรู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในสถานที่จริง ช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจเลือกเป็นเส้นทางที่ต้องการมาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลายเพื่อจะได้ซึมซับบรรยากาศจริง หลังจากที่ได้ชมจากเทคโนโลยี AR และ VR

นอกเหนือจากนี้ความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคือการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวในพื้นที่แออัดเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมช่วยลดโอกาสการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด นวัตกรรมการท่องเที่ยวสามารถเป็นตัวช่วยในการจัดสรรเวลาและปริมาณเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของผู้มาเยือน โดยอาศัยเทคโนโลยีเชิงลึกในการจัดสรรความหนาแน่นและวิเคราะห์ความเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับการท่องเที่ยวที่จะเอื้อประโยชน์ในด้านข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและปลอดภัย

แม้จะเกิดวิกฤตอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ แต่ก็ได้สร้างโอกาส  “ที่ดี” ให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้าน “การท่องเที่ยว” และ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว” ที่จะสามารถผนวกรวมกันและพลิกโฉมรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคตที่แปลกใหม่และง่ายขึ้นกว่าเดิม นวัตกรรมการท่องเที่ยวสามารถช่วยเปิดประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวที่อยากเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ ได้ทดลองท่องเที่ยวทางไกลผ่านเทคโนโลยีจากที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงมิติต่าง ๆ ของสถานที่นั้นได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจและช่วยตัดสินใจในการอยากมาสัมผัสบรรยากาศจริงเมื่อโลกเปิดให้สามารถกลับมาเดินทางได้อย่างเสรีอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นเครื่องมือให้ภาครัฐใช้ในการวัดผลติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคเอกชนยังสามารถนำนวัตกรรมมาช่วยในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกิจกรรมนันทนาการอื่นได้อีกด้วย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.cnn.com/travel/article/full-moon-party-thailand-covid-koh-phangan-cmd/index.html

https://www.bangkokpost.com/business/2091907/operators-call-for-sandbox-scheme-to-include-bangkok

โดย รัฐพล วงศาโรจน์
       นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)