สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานครบรอบ 60 ปีศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศมาชาฟ

News 26 พฤศจิกายน 2561 1,543

งานครบรอบ 60 ปีศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศมาชาฟ

NIA โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานครบรอบ 60 ปีศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศมาชาฟ (60th anniversary of MASHAV Israel’s Agency for International Development Cooperation) ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษนี้ว่าด้วยการปรับกระบวนทัศน์เพื่อไปสู่ชาติแห่งนวัตกรรม (Shifting Paradigm towards Innovation Nation) โดยกล่าวถึงเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มต้นจากประเทศไทย 1.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งเกษตรกรรม ประเทศไทย 2.0 เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเบา ประเทศไทย 3.0 เริ่มพัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก ในขณะที่โลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว และทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมอาจไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้อย่างที่เคยมาอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ด้วย แม้กระทั่งรูปแบบธุรกิจในประเทศไทยก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีเพียง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีวิสาหกิจเริ่มต้นหรือบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอีกด้วย

ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ องค์กรหรือหน่วยธุรกิจต่างๆ ต้องสามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงเพื่อระบุโอกาสในอนาคตได้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร โดยอาศัยการจัดการกระบวนการนวัตกรรม การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมภายในองค์กร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรม รวมถึงการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอด้านนวัตกรรม เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลสัมฤทธิ์

ผลักดันระบบนวัตกรรม 7 ประการ

ในส่วนของ สนช. นั้น นอกจากจะพยายามส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมองว่ามีประเด็นที่จะผลักดันระบบนวัตกรรม 7 ประการ ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมการเงินนวัตกรรม (Financial architecture) ระบบการเงินนวัตกรรมที่ครบวงจรและใช้งานได้จริง
2. นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social innovation) การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
3. งานแห่งนวัตกรรม (Innovation workforce) พัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อตอบสนองงานด้านตลาดนวัตกรรม ซึ่งจะเกิดงานใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย
4. ตลาดนวัตกรรมภาครัฐ (Government market) ภาครัฐเป็นผู้นำในการอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่พัฒนานวัตกรรม
5. นวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (Mandatory innovation) เป็นการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่มีมายาวนาน
6. นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-base innovation) ทำให้เกิดความสามารถในการจัดการนวัตกรรมระดับภูมิภาค
7. การสร้างนวัตกรและวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innopreneurship & IDE) เป็นการสร้างผู้นำธุรกิจและกิจการที่เติบโตด้วยนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในการพัฒนาประเทศไทยเพื่อยกระดับนวัตกรรมนั้น การมีพันธมิตรที่มีศักยภาพเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ สนช. ได้มีโครงการความร่วมมือกับประเทศอิสราเอลซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็นชาติแห่งนวัตกรรม โดย สนช. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ Israel Innovation Authority เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้มีการทำโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพร่วมกับบริษัทอิสราเอลเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพไทย สนช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้ทำงานร่วมกัน และได้เห็นกระบวนการคิดของอิสราเอลผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ นี้ จะช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นวัตกรรมของเรา ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

ปาฐกถาพิเศษนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี โดยมีผู้ให้ความสนใจตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ เช่น นวัตกรรมด้านการศึกษา นวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคน นวัตกรรมที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น