สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

การประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม"Innovation Thailand Photo Contest 2019"

News 14 มีนาคม 2562 5,996

การประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม"Innovation Thailand Photo Contest 2019"


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จัดการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” ชิงรางวัลเงินสด และ รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Workshop การถ่ายภาพนำโดย อ. วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ณ จังหวัดสุโขทัย

หัวข้อการประกวด “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: TRAVELTECH INNOVATION” 

เป็นภาพที่แสดงออกถึงการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ เป็นภาพที่สร้างความตื่นตัวและความตระหนักในการที่จะนำนวัตกรรมการท่องเที่ยวมาใช้ โดยมีขอบเขตครอบคลุมมุมมอง 3 ด้านหลักอันใดอันหนึ่งดังนี้

  1. ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) หมายถึง รูปแบบการท่องเที่ยวที่มีการนำเอาทรัพยากรทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ การเยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรม และ สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการซื้องานหัตถกรรม และ งานฝีมือที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นต่างๆ
  2. ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) หมายถึง รูปแบบการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นทางด้านการเรียนรู้ วิถีเกษตรกรรม เช่น การท่องเที่ยวไร่องุ่น ชมการผลิตไวน์ การนำชมสวนทุเรียน มังคุด มะม่วง เป็นต้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนและตัวเกษตรกร โดยส่งเสริมโอกาสในการมีรายได้มากขึ้นจากการแปรรูป สินค้าเกษตร การเก็บค่าเข้าชม การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และโอ กาสในการสร้างธุรกิจใหม่จากทรัพยากรที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
  3. ด้านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health/Wellness Tourism) หมายถึง รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และ การพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง จากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และ กิจกรรมรักษาฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางร่างกาย หรือ จิตใจ

 

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศ ด้าน “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” โดยอาศัยการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือ
  2. เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมต่อสังคม ในการช่วยกันนำเสนอปัญหาและโอกาสในพัฒนา “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” และรูปแบบธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) มาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมของสังคม ชุมชน และประเทศ ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และด้านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ
  3. เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่มีใจรักการถ่ายภาพได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการถ่ายภาพ ทั้งกระบวนการคิดในการวางแผน การนำเสนอมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลให้มีภาพถ่ายใหม่ๆ ขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาวงการถ่ายภาพในเมืองไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
  4. เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ ในการเป็นพลังขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดยสร้างความตื่นตัวและบรรยากาศด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย

 

ประเภทของอุปกรณ์ถ่ายภาพ และ รางวัล

สำหรับการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” นี้ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) – 13 รางวัล

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท
  • รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล เงินรางวัลๆ ละ 3,000 บาท

2. ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital และกล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือ – 13 รางวัล

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท
  • รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล เงินรางวัลๆ ละ 3,000 บาท

พิเศษ!!! ผู้ได้รับรางวัลทุกท่านจะได้รับการคัดเลือกให้ร่วมกิจกรรม Phototech Together Workshop ที่จังหวัดสุโขทัย 2 วัน 1 คืน (ฟรีค่าที่พักและอาหาร) กับ

  • อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, ศิลปินแห่งชาติ
  • อาจารย์วรรณี ชัชวาลทิพากร, ศิลปินนักถ่ายภาพไทย
  • รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์, PSA Photographic Society of America HM Ribbin, Photovivo International Photography award 2016
  • ผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • คุณเสกสรร เสาวรส, ผู้ชนะเลิศหลายรางวัลในการใช้โดรนถ่ายภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดภาพถ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรม Phototech Together Workshop ชิงเงินรางวัล 50,000 บาท และถ้วยเกียรติยศจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้รับสนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพในกิจกรรมเวิร์คชอป โดยเลนส์ยี่ห้อ Sigma และ ไฟแฟลช elinchrome จาก บริษัทชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

 

ประเภทของภาพถ่าย

ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องส่งภาพถ่ายในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล หรือไฟล์ภาพถ่ายที่สแกนมาจากฟิล์มเท่านั้น จะไม่รับภาพถ่ายที่อัดขยายบนกระดาษอัดรูป

 

วิธีการส่งภาพประกวด

ส่งภาพถ่ายผ่านระบบเว็บของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เท่านั้น

 

กติกาในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด

1. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดสามารถส่งได้ทั้งภาพที่ถ่ายโดยการใช้โดรน กล้อง DSLR กล้อง Digital และกล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหรือวิธีการอื่นๆ ในกรณีที่ใช้กล้องบรรจุฟิล์ม จะต้องนำฟิล์มไปสแกนเป็นไฟล์ภาพดิจิทัลความละเอียดสูง และต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ถ่ายถึงวันหมดเขตรับภาพ

2. ไฟล์ภาพถ่ายที่ส่ง ต้องเป็นไฟล์ภาพถ่ายที่มีขนาดด้านที่สั้นที่สุดไม่ต่ำกว่า 2,400 Pixels และด้านที่ยาวที่สุดไม่เกินกว่า 4,800 pixels ในรูปแบบไฟล์ .jpg เท่านั้น และต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใดๆ ลงบนภาพถ่าย รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใดๆ

3. กรณีภาพที่ส่งเป็นภาพถ่ายดิจิตอลจากโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ต้องถ่ายภาพด้วยโดรนตามที่กฎหมายกำหนด เช่นระยะความสูงของการบินไม่เกิน 90 เมตร และไม่บินในเขตพื้นที่หวงห้าม พร้อมระบุยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขเครื่องของโดรนที่ใช้

4. ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องสมัครเข้าระบบเว็บไซต์ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ พร้อมกรอกรายละเอียดที่ถูกต้องตามหลักฐานจริงผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพถ่ายนั้นๆ ด้วยตนเอง ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลงเลียนแบบภาพถ่ายของบุคคลอื่นๆ หรือนำภาพถ่ายของผู้อื่นมาส่งหรือส่งในนามผู้อื่นโดยเด็ดขาด

5. ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดขอรับรองว่าภาพถ่ายที่ถูกส่งเข้าประกวดนั้น เป็นภาพถ่ายที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หากมีบุคคลที่สามกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายที่ผู้ส่งภาพเข้าประกวดได้ส่งเข้าประกวดนั้น มีการละเมิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะขอรับผิดชอบต่อค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียวโดยที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความรับผิดของผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด

6. ภาพถ่ายภายใต้ Theme “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” โดยมีขอบเขตครอบคลุมในมุมมองด้านต่างๆ ดังนี้ 1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) 2) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) และ 3) การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health /Wellness Tourism)

7. ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดแต่ละคนสามารถส่งผลงานภาพถ่ายไม่เกิน 5 ภาพ พร้อมตั้งชื่อภาพถ่าย และเขียนคำอธิบายแนวคิด หากภาพถ่ายใดข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ จะถูกตัดสิทธิ์การส่งเข้าประกวด

8. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด ทั้งนี้ภาพถ่ายดังกล่าวหมายความรวมถึง ภาพถ่ายที่ถ่ายในองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกัน เช่น การถ่ายภาพในครั้งเดียวกันหลายภาพ การเปลี่ยนองค์ประกอบของภาพเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนภาพจากภาพสีเป็นภาพขาวดำ การคร็อปภาพใหม่ หรือภาพถ่ายที่ถ่ายในองค์ประกอบเดียวกันกับผู้อื่นที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วไม่ว่าจากเวทีใดๆ ทั้งนี้ ให้ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสิน

9. ในกรณีมีการประท้วงในการทำผิดกติกา และในกรณีที่จะต้องนำภาพถ่ายไปพิมพ์ในขนาดใหญ่ หากถ่ายภาพเป็น RAW FILE ไว้ ควรเก็บ RAW FILE นั้นไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐาน ในกรณีที่ภาพถ่ายอาจมีปัญหาในภายหลัง หากผู้ถ่ายภาพไม่สามารถนำ RAW ไฟล์มาแสดงได้ในกรณีที่คณะกรรมการ ต้องการตรวจสอบ คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสิทธิ์ภาพนั้นๆ ออกจากการประกวด

10. คณะกรรมการตัดสินภาพถ่ายในโครงการประกวดถ่ายภาพนี้ และคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่มีสิทธิ์ในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้

11. ลิขสิทธิ์ของภาพยังคงเป็นของผู้ถ่ายภาพอย่างสมบูรณ์ คณะผู้จัดงานขอกรรมสิทธิ์ในการคัดเลือกภาพถ่ายที่เข้ารอบสุดท้ายเพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงนำไปจัดแสดงในที่ต่างๆ และมีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานในหนังสือ นิทรรศการ และเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งสารสนเทศทุกประเภทที่ไม่เป็นไปเพื่อการพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพนั้นๆ โดยเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันตัดสิน ทั้งนี้ คณะผู้จัดจะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ เมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากคณะผู้จัดมีความประสงค์จะใช้ภาพใด คณะผู้จัดจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี และจะใช้ภาพเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น

12. หากปรากฏว่าผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเจตนาฝ่าฝืนกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนด ไว้ข้างต้นนี้คณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสิทธิ์ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดผู้นั้นโดยมีโทษตั้งแต่การตัดสิทธิ์ในการประกวดและการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ หากมีบุคคลที่สามกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายที่ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ได้ส่งเข้าประกวดนั้นมีการละเมิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และ หากภาพที่ได้รับรางวัลเกิดขึ้นจากการละเมิดต่อกฎหมาย หรือ ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น จนนำไปสู่การร้องเรียน หรือ ฟ้องร้องทางกฎหมายจากภาครัฐ เอกชน หรือ บุคคลธรรมดาอันเป็นผลทำให้ไม่สามารถนำภาพที่มีปัญหาไปใช้งานได้ ทางคณะกรรมการจัดการประกวดมีสิทธิ์ประกาศยกเลิกผลการตัดสินของภาพนั้นๆ รวมถึงมีสิทธิ์ในการเรียกรางวัลคืนจากผู้ที่ได้รับรางวัล แม้ว่าทางคณะกรรมการจัดการประกวดจะได้ทำการตัดสินไปแล้วก็ตาม ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว โดยที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

13. หลังจากมีการประกาศผลภาพถ่ายที่เข้ารอบสุดท้าย ทางคณะกรรมการจัดการประกวดจะเปิดให้มีการทักท้วงภาพภายใน 5 วัน หากมีผู้ทักท้วงและมีการตรวจสอบว่าภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดผิดกติกาในข้อใดข้อหนึ่งจะถูกตัดสิทธิ์การส่งเข้าประกวดทันที

14. คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

 

หลักเกณฑ์การตัดสินภาพถ่าย

1. ความสวยงามโดยรวม 
ภาพที่ส่งเข้าประกวดมีความสวยงามตามหลักทัศนศิลป์ ทั้งด้านแสง สี  และ องค์ประกอบภาพ 

2. เทคนิค
ภาพที่ส่งเข้าประกวดแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจในการถ่ายภาพ การควบคุมกล้อง การตกแต่งภาพ 

3. ความคิดสร้างสรรค์
ภาพที่ส่งเข้าประกวดมีความสร้างสรรค์ มีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม 

4. การสื่อสาร  
ภาพที่ส่งเข้าประกวดสามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องราวได้ตรงตามโจทย์ที่กำหนด

 

ระยะเวลาโครงการ

  • เปิดระบบรับภาพประกวดทาง Online วันที่ 15 มีนาคม 2562 – 20 เมษายน 2562 (ปิดระบบ เวลา 18.00 น.)
  • ประกาศผลภาพที่ผ่านเข้ารอบ และ ผลรางวัลภายในเดือน พฤษภาคม 2562
  • ผู้ได้รับรางวัลเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม Phototech Together Workshop ที่จังหวัดสุโขทัยวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2562 และ มีการตัดสินภาพสำหรับกรอบรางวัลพิเศษเพิ่มเติม 50,000 บาท หลังจากนี้