สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

DeepTech พลังแห่งการพลิกโฉมวงการเกษตร

บทความ 23 พฤษภาคม 2565 4,321

DeepTech พลังแห่งการพลิกโฉมวงการเกษตร


เมื่อกล่าวถึงการเกษตร หลายคนก็จะนึกถึง "เกษตรกร" ที่ลงทุนลงแรงอย่างมากมาย แต่ผลผลิตไม่เป็นตามที่คาด ทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น อย่างที่เราเห็นกันว่า มีทั้งเมษาหน้าหนาว ฝนตกนอกฤดู อากาศที่ร้อนกว่าปกติ การพึ่งฟ้าพึ่งฝนที่ยากต่อการควบคุม จนไปถึงผลกระทบสำคัญด้านราคาผลผลิตที่ผันผวน เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า เกษตรกรรม เป็นอาชีพที่ “ทำมากได้น้อย”   


อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก ที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์กันว่า ต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้สูงขึ้นร้อยละ 70 ตามประชากรที่จะสูงถึง 9.9 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2050 แต่การทำฟาร์มและการเกษตรในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนตามมาอีกด้วย ดังนั้นด้วยความก้าวหน้าในเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะสามารถช่วยทำนายการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้อย่างแม่นยำขึ้น เปรียบเสมือนการเอาชนะธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ โดยการสร้างกระบวนการทางเกษตรกรรมที่มีศักยภาพ ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของทั่วโลกได้


ด้วยการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้านความมั่นคงทางอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรทั่วโลกนั้น โดยคลื่นลูกใหม่ที่จะตอบโจทย์ได้คือ เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มีความแตกต่างจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ลอกเลียนแบบได้ยาก ผ่านการวิจัยและพัฒนามาในระยะเวลานาน สร้างให้เกิดผลกระทบที่ตอบโจทย์ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าให้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างตลาดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการพลิกโฉมวงการเกษตร ดังตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเส้นทางการเติบโตดังนี้



3 สตาร์ทอัพเกษตรระดับยูนิคอร์นที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกด้วย ABC-Tech


Artificial Intelligent หรือ AI - ปัญญาประดิษฐ์ด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ของการเกษตร

การเกษตรมีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data จำนวนมากซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งข้อมูลฝนฟ้าอากาศ ข้อมูลของพืชพันธุ์ การเพาะปลูก เพราะเลี้ยง ซึ่งถ้าสามารถใช้การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม จะเปรียบเหมือนการสร้างขุมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ขึ้น และที่สำคัญยิ่งช่วยแก้ปัญหาการเกษตรได้อย่างแม่นยำขึ้น 


Farmers Business Network (FBN) เป็นตัวอย่างสำคัญของสตาร์ทอัพที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่มาจัดการให้เกิดประโยชน์กับวงการเกษตร โดยเป็นสตาร์ทอัพที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2014 โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการทำการเกษตร โดยให้เกษตรกรแบ่งปันข้อมูลทุกอย่างโดยไม่เปิดเผยตัวตน ตั้งแต่ประสิทธิภาพของเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต ไปจนถึงการกำหนดราคาขาย ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพต่อการทำเกษตร ทำให้เกษตรกรตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูกบนพื้นฐานข้อมูลประกอบมากขึ้น ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนของสมาชิก เกิดการกำหนดราคาที่โปร่งใสและเป็นจริง นับได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกษตรกรสามารถประหยัดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 50 โดยในปัจจุบันมีมูลค่าธุรกิจสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 132,000 ล้านบาท ได้รับการระดมทุนสูงถึง 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการจัดการข้อมูลมหาศาลจะมีวิทยาศาสตร์ของข้อมูลและเทคโนโลยี AI อยู่เบื้องหลังที่จะช่วยให้ข้อมูลถูกต้องใกล้เคียง เกิดการนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Biotechnology - ชีววิทยาสังเคราะห์สร้างศักยภาพเกษตรใหม่

ชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ Synthetic Biology เป็นเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ที่ถือว่าเป็นคลื่นลูกที่สองของพันธุวิศวกรรม ที่จะมาสร้างให้เกิดนวัตกรรมได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเกษตร ทั้งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของพืช โดยในปี 2020 มูลค่าตลาดโลกของชีววิทยาสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารอยู่ที่ประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 105 พันล้านบาท มูลค่านี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 14.11 พันล้านดอลลาร์หรือ 465 พันล้านบาท ภายในปี 2025


Inari สตาร์ทอัพเมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ได้นำเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ด้วยการแก้ไขระดับยีน (Gene Editing) ที่เป็นการผสานเทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับปรุงเมล็ดพันธ์ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรและลดการใช้น้ำและปุ๋ยให้น้อยลง ที่สำคัญมีผู้บริหารเป็นคนไทยด้วย ที่มีเส้นทางการเติบโตด้วยการระดมทุนไปทั้งสิ้น 397 ล้านเหรียญหรือประมาณ 13,000 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่าของบริษัท 1.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 40,000 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ผลงานจากงานวิจัยและพัฒนาระดับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ในปี 2020 มาใช้แก้ปัญหาด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหาร


Computer Vision – เทคโนโลยีการจดจำภาพ การเรียนรู้ และระบบอัตโนมัติสู่การใช้แรงงานเกษตรน้อยลง

นวัตกรรมในพื้นที่เกษตรด้วยเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือทำเกษตรที่แม่นยำ เช่น การติดตามผลผลิตและการพยากรณ์อากาศ กำลังทำให้ผลผลิตในฟาร์มมีมิติใหม่ทั้งหมด จากการใช้เครื่องจักรแบบเดิมๆ ที่จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์มากขึ้น 


Bowery Farming ใช้ระบบการมองเห็นด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ และ Machine Learning เพื่อตรวจสอบพืชและการติดตามการเจริญเติบโต ในฟาร์มเกษตรแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่และร้านค้ามากกว่า 1,100 แห่ง ที่มีผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยคงความสด สามารถจะจัดส่งให้ภายในวันที่เก็บเกี่ยว ระบบฟาร์มอัจฉริยะ ได้ออกแบบภายใต้ระบบของ BoweryOS ของตัวเอง ในการสร้างระบบเกษตรเพื่อผลิตอาหารที่มุ่งเน้นความสะดวก ความสด และความปลอดภัย จากจุดเริ่มต้นในการเป็นสตาร์ทอัพที่เมือง New York ปัจจุบันขยายไปสู่ 3 เมืองได้แก่ New Jersey, Maryland, และ Pennsylvania โดยได้รับการระดมทุน 623 ล้านเหรียญหรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่าของบริษัท 2.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 75,000 ล้านบาท โดยการประมวลผลข้อมูลและรูปภาพช่วยให้การตัดสินใจในการทำการเกษตรแม่นยำแบบเรียลไทม์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเกษตรแม่นยำที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และใช้แรงงานน้อยลง


เมื่อมองย้อนกลับมายังประเทศไทย จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่ง “การบ่มเพาะ” เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้สตาร์ทอัพมีความเข้าใจโจทย์ของภาคธุรกิจการเกษตรมากขึ้น โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Inno4Famers มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจให้เติบโตตอบโจทย์ความต้องการตลาดอย่างถูกทิศถูกทาง ซึ่งจะได้รับประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้ริเริ่มและให้ความสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโลยีเชิงลึก ที่มีเป้าหมายสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกจำนวน 100 ราย ในระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2567 ซึ่งเป็นกลุ่มด้านการเกษตรจำนวน 20 ราย 


ดังนั้น ผลการดำเนินงานโครงการ จะเร่งสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่เป็นความหวังของภาคการเกษตรไทย ที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้าและบริการ รวมถึงโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในการพลิกโฉมวงการเกษตรไทยและทั่วโลก


สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Inno4Farmers 2022 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 พ.ค. 2565 ส่งรายละเอียดของบริษัท พร้อมทั้งแผนธุรกิจ (Pitch Deck) ได้ที่  https://inno4farmers.nia.or.th/


ที่มาข้อมูล

  1. https://hello-tomorrow.medium.com/unleashing-deeptech-innovation-for-the-next-age-of-food-and-agriculture-40d5c3680571
  2. https://www.statista.com/statistics/1247022/synthetic-biology-market-value-for-agriculture-and-food-industries-worldwide/
  3. https://www.failory.com/startups/agriculture-unicorns#toc-10-agriculture-unicorns-companies 
  4. https://www.nia.or.th/Open-House-AgTech-Startup-DeepTech-Growth-Journey-Inno4Farmers-2022


บทความโดย
มณฑา ไก่หิรัญ (นก)
ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)