สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

COP24 : ประเด็นที่ร้อนกว่าโลกร้อน

บทความ 12 มีนาคม 2562 8,917

สรุปประเด็นร้อน จากการประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 24 (24th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention) หรือ COP 24


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่อุณหภูมิที่หนาวเย็นกว่าขั้วโลกใต้ตามเมืองใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา จนถึงอากาศร้อนจัดจนหลอมละลายถนนลาดยางที่ออสเตรเลีย หรือการปะทะกันของอากาศเย็นและร้อนจนกลายเป็นฝาชีที่ครอบกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองกักฝุ่นติดอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น การประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 24 (24th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention) หรือ COP 24 ที่ประเทศโปแลนด์เมื่อธันวาคมปี 2018 มีประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 200 ประเทศ เพื่อหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจัง จึงเป็นที่น่าจับตามองจากคนทั่วโลก

10 อันดับประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด


เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ การต่อยอดจากข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ที่กำหนดให้ทุกชาติมีมาตรการร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่ข้อตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020 โดยความสำคัญของการประชุมรอบนี้ คือ จีน ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้แสดงบทบาทผู้นำที่สำคัญในการให้ทุกประเทศยอมรับในข้อตกลงนี้ร่วมกัน ไม่ว่าประเทศนั้น ๆ จะอยู่ในฐานะที่รวยหรือจนกว่า

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการกำหนดกรอบการปฏิบัติ แต่เรายังคงห่างไกลจากเป้าหมายตามที่ข้อตกลงปารีสวางไว้ค่อนข้างมาก การดำเนินการของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า และคาดว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2030 ได้ ดังนั้นจึงเกิดข้อตกลงเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ทั้ง Emissions Gap Report 2018 และ Global Warming of 1.5°C เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศสมาชิกภาคีเพิ่มความมุ่งมั่นในการไปให้ถึงเป้าอีกอย่างน้อย 5 เท่า แต่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว กลับไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ 4 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกเห็นชอบต่อหลักฐานนี้

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยของโลก ในปี ค.ศ. 2100

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการกำหนดกรอบการปฏิบัติ แต่เรายังคงห่างไกลจากเป้าหมายตามที่ข้อตกลงปารีสวางไว้ค่อนข้างมาก การดำเนินการของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า และคาดว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2030 ได้ ดังนั้นจึงเกิดข้อตกลงเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ทั้ง Emissions Gap Report 2018 และ Global Warming of 1.5°C เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศสมาชิกภาคีเพิ่มความมุ่งมั่นในการไปให้ถึงเป้าอีกอย่างน้อย 5 เท่า แต่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว กลับไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ 4 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกเห็นชอบต่อหลักฐานนี้

น้ำแข็งที่ละลายหายไปจากมหาสมุทรอาร์กติก

หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยของการไม่ยอมรับผลงานวิจัยเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ว่าการตัดสินใจดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องอื่นกันแน่ เพราะสิ่งที่ประชากรโลกต่างกำลังเผชิญอยู่นอกเหนือจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแล้ว การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกได้เพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นในแต่ละปี

แต่ส่วนหนึ่งของรายงาน Global Warming of 1.5°C ประเมินว่าจะมีผู้ใช้รถยนต์จำนวนกว่า 2 พันล้านคันบนท้องถนนทั่วโลกภายในปี 2040 สอดคล้องกับรายงาน COP24 Special Report Health & Climate Change ของ WHO ว่ามลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 4 ที่มีผลต่อการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ราว 7 ล้านคนต่อปี ดังนั้นโปแลนด์ ประเทศเจ้าภาพในการจัดประชุม COP24 และสหราชอาณาจักร จึงร่วมเสนอร่างปฏิญญา Driving Change Together – Katowice Partnership for E-mobility เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งได้รับการตอบสนองทางบวกจาก 40 ประเทศ โดยลงนามความร่วมมือเพื่อสร้างพันธมิตรนานาชาติทั้งระดับองค์กร รัฐบาลท้องถิ่น และระดับเมืองในการผลักดันเพิ่มการใช้นวัตกรรมระบบขนส่งมวลชนที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้า และ WHO ยังเสนอเพิ่มเติมว่าการลดการใช้พลังงานฟอสซิล ไม่เพียงแค่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ แต่เป็นโอกาสที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น เช่น การหันมาใช้จักรยาน ซึ่งต้องมีการดำเนินการในระดับนโยบาย ส่งเสริมให้ผู้นำในแต่ละเมืองตระหนักถึงความสำคัญ รวมทั้งมีการลงทุนและใช้พลังชุมชน นับเป็นนวัตกรรมเชิงสังคมที่เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :


https://www.bbc.com/news/science-environment-46384067
https://www.bbc.com/news/science-environment-46582265
https://thaipublica.org/2018/12/cop24-paris-agreement-global-climate-change-warming/?fbclid=IwAR3OhytQxqDBN5OZsu-tP8xz4_9fan7wNkFRlZ5EIaDjlx4WbcWPV2iENOo