สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

AREA-BASED

Innovation City

เมืองนวัตกรรม

สนช. ได้ริเริ่มโครงการ "ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ" (IOT City Innovation Center) เพื่อเป็นศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศน์สำหรับอุตสาหกรรมการพัฒนาเมืองแบบเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยกลไกสนับสนุนทางการเงิน เพื่อร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม โดย สนช. ร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึง และใช้งานระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และร่วมกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันธุรกิจนวัตกรรม สำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารให้มีขีดความสามารถ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นสำหรับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


ย่านนวัตกรรม

Innovation District

สนช. ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" (Innovation District) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ ของการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมืองบนหลักการของการพัฒนาเมือง หรือย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมในย่าน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (connecting) ของผู้คนและไอเดียภายในย่าน รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม (co-creation) แบ่งปันความรู้ระหว่างกัน (knowledge sharing) โดย สนช. ได้ริเริ่มพัฒนา "ย่านนวัตกรรมโยธี" (Yothi innovation district) ให้เป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานรัฐ สถานบริการสาธารณสุข และที่พักอาศัย ได้แก่ นวัตกรรมทางการแพทย์ (MEDTECH) นวัตกรรมสำหรับภาครัฐ (GOVTECH) นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมือง (CITYTECH) 





ระเบียงนวัตกรรม

Innovation Corridor

การพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งนําเอาทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ มาใช้เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมในพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และความก้าวหน้าทางวิทยาการ ซึ่งโดยทั่วไปแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายการลงทุน โดยยังขาดการเชื่อมโยงกับมิติของความก้าวหน้าทางวิทยาการ
สนช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา "นวัตกรรมเชิงพื้นที่" (Area-based Innovation) ซึ่งจะเป็นการนำเสนอ รูปแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่บนพื้นฐานของปัจจัยการพัฒนาในทุกมิติ โดย สนช. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจังหวัดระยอง ในการพัฒนาโครงการ “นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงพื้นที่สู่อาเซียน” โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจร่วมกันในการสนับสนุนข้อมูลทางสถิติ ข้อมูลสารสนเทศภูมิอากาศ และข้อมูลศักยภาพของแหล่งวัตถุดิบเพื่อการผลิต รวมถึงศักยภาพด้านการลงทุนของภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลและวิเคราะห์ในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและวิสาหกิจเริ่มต้นรวมเกิดเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและกลไลที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยและผู้ดำเนินกิจกรรมในย่าน เพื่อเชื่อมต่อผู้คน และไอเดียภายในพื้นที่ (connecting) รวมถึงการมีกลไกที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน (co-creation) แบ่งปันความรู้แก่กัน (knowledge sharing) ของชุมชน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่

ในเบื้องต้นของการดำเนินการจะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่นำร่องในแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Southern Economic Corridors: EWEC) ซึ่งมีความยาว 1,320 กิโลเมตร เชื่อมต่อประเทศพม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงสินค้า วัฒนธรรม แหล่งความรู้ ระหว่างทะเลอันดามันและมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะมีการวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่า เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเป็นนวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงพื้นที่สู่อาเซียน โดยมีเป้าหมายในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ การท่องเที่ยว การค้า การขนส่ง และการเกษตร


การยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่

AREA-BASED INNOVATION

สนช. ดำเนินการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (Innovation City) และย่านนวัตกรรม (Innovation District) ซึ่งจะมีการพัฒนาใน 3 ส่วน ได้แก่ การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การบริหารทรัพยากรเพื่อให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน