สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“Innovation Diplomacy” การทูตนวัตกรรม เครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ มุ่งเป้าผลักดันไทยสู่ชาตินวัตกรรม

12 พฤษภาคม 2566 1,825

“Innovation Diplomacy” การทูตนวัตกรรม เครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ มุ่งเป้าผลักดันไทยสู่ชาตินวัตกรรม


ทำความเข้าใจ “การทูตนวัตกรรม” แบบ 101 เขาคุยอะไรกัน ? จริงหรือไม่…ที่ไม่ใช่ผู้นำหรือนักการทูต ก็สามารถทำสิ่งนี้ได้

หากเราพูดถึงคำว่าการทูต สิ่งที่หลายคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้นการพูดคุยท่ามกลางบรรยากาศที่ดูจริงจังเป็นทางการระหว่างนักการทูตและบุคคลสำคัญระหว่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์หรือวาระสำคัญที่ต้องการผสานความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์อันดีในหลายๆ ประเทศ เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคหรือในโลก ตั้งแต่เรื่อง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์อันร้อนระอุทางภูมิรัฐศาสตร์

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การพูดคุยทางการทูตก็ได้วิวัฒนาการไปในรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เราต่างต้องพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน “การทูตนวัตกรรม” หรือ “Innovation Diplomacy” จึงเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ แน่นอนว่ายังคงเป็นรูปแบบการทูตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์อันดี เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ทุกการเจรจาจะต้องมีการมุ่งเป้าไปที่มิติการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง

และความแตกต่างอีกอย่างที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของการทูตนวัตกรรม ก็คือการสร้างความสัมพันธ์นี้ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้สำหรับนักการทูตหรือกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ภาคเอกชน บริษัทสตาร์ทอัพ หรือเจ้าของธุรกิจ โดยที่แต่ละคนก็อาจมีแนวทางสร้างความร่วมมือในบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น การร่วมสร้างข้อตกลง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ไปจนถึงการจัดสรรเงินลงทุน ซึ่งการเปิดกว้างเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากในวาระระดับชาติ

แต่หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกเห็นภาพไม่ชัด ลองมาดูตัวอย่างการทูตนวัตกรรมที่เคยเกิดขึ้นมากันดีกว่า

อย่างในปี 2019 ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กันดีในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นรายหนึ่งของโลก ความร่วมมือครั้งนั้นได้นำมาสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน ICT ของไทย รวมถึงยังมีการจัดงาน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G” ผ่านบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นจุดที่ทำให้สตาร์ทอัพได้สะสมองค์ความรู้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ ตลอดจนส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจอีกด้วย

หรือปี 2020 ที่ได้สร้างความร่วมมือกับ New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) จากประเทศญี่ปุ่น ในการดำเนินโครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตเอทานอลในโรงงานต้นแบบ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการวัสดุเหลือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้มีมูลค่า 

และล่าสุดของปี 2022 ที่เราได้จับมือกับฝรั่งเศส ผ่าน 4 เครือข่ายพันธมิตร ในการยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีเชิงลึก ในการแสวงหาเงินทุน และขยายตลาดไปยังต่างประเทศให้กับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทย ที่มีเทคโนโลยีเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจอวกาศ

ซึ่งในเวลานี้ประเทศไทยถือว่ามีฐานอุตสาหกรรมที่โดดเด่นหลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่อง อาหาร เกษตร การท่องเที่ยว และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังคงมีด้านที่ต้องเร่งพัฒนาอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทุนมนุษย์ เงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าการทูตนวัตกรรมจะเข้ามาเป็นหนทางในการลดช่องว่างดังกล่าวให้เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้ และส่งเสริมเงินลงทุนได้อย่างเสรี

อีกอย่างที่ช่วยส่งเสริมการทูตนวัตกรรม ก็คือการสร้างการรับรู้ให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมา NIA ได้มีการจัดงานมหกรรมนวัตกรรมและเครือข่ายสตาร์ทอัพไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ “STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO  หรือ  “SITE” ขึ้นเพื่อสื่อสารกับนานาชาติถึงความพร้อมด้านนวัตกรรมไทย สร้างความน่าดึงดูด และเปิดโอกาสในการเข้าถึงของผู้ที่สนใจจากทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 

การทูตนวัตกรรมนี้จึงไม่เป็นเพียงแค่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยผลักดันนวัตกรรมของประเทศไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ผ่านความร่วมมือที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการเข้าถึงโอกาสที่มากขึ้น ก็ย่อมส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การสร้างงาน จนสามารถเกิดเป็นหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะดียิ่งขึ้นอย่างยิ่งในอนาคต

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://education.nationalgeographic.org/resource/diplomacy/
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/169 
https://www.huawei.com/th/news/th/2021/huawei-thailand-and-nia-launch-startup-thailand-club-5g-technology-demo-day 
https://siamrath.co.th/n/354652 
https://www.nia.or.th/2022/NIA-AJBM46 
https://www.bangkokbiznews.com/tech/830561 
https://workpointtoday.com/thailand-43th-global-innovation-index-2022/