สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA เปิดรายงานระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรครั้งแรกของไทย พร้อมเดินหน้าเน้นใช้เทคโนโลยีเชิงลึก และผนึกกำลังพันธมิตรร่วมพลิกโฉมระบบเกษตรไทย

News 16 สิงหาคม 2564 3,113

NIA เปิดรายงานระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรครั้งแรกของไทย พร้อมเดินหน้าเน้นใช้เทคโนโลยีเชิงลึก และผนึกกำลังพันธมิตรร่วมพลิกโฉมระบบเกษตรไทย

NIA เปิดรายงานระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตรครั้งแรกของไทย

พร้อมเดินหน้าเน้นใช้เทคโนโลยีเชิงลึก และผนึกกำลังพันธมิตรร่วมพลิกโฉมระบบเกษตรไทย


6 สิงหาคม 2564 - NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิด “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem Development White Paper)” โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทค มากขึ้น พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตรให้สามารถก้าวสู่ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการเป็นผู้พลิกโฉมเกษตรกรยุคใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ รวมถึงขยายผลการใช้งานไปทั่วประเทศและภูมิภาคอาเซียน


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA นำโดย ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าววิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายในการพลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) เกษตรอัจฉริยะ หรือ การเปลี่ยนจากเกษตรที่เน้นการใช้หยาดเหงื่อและแรงกาย ไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี 2) การเพิ่มรายได้ในภาคเกษตรต้นน้ำ หรือ การเปลี่ยนจากระบบคนกลาง ไปสู่ระบบการสร้างรายได้ด้วยตนเอง 3) การกระจายสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมด้านตลาด หรือการเปลี่ยนจากการปล่อยให้มีการผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดเป็นประจำไปสู่ตลาดเสรีที่มีระบบจัดการที่ดี 4) เกษตรยั่งยืน จากปัญหาขยะและสารตกค้างเกษตรไปสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรแบบลีน และ 5) ด้านการสร้างสถานะผู้นำด้านสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยแนวทางการดำเนินงานต่อไปมุ่งเน้นการสร้างสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech Startup ในภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น และบูรณาการสร้างความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชน ภายใต้รูปแบบที่สำคัญของการสร้าง AgTech คือ 

A          =          Accelerating > เร่งสร้างระบบนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศ

G          =          Growth for The future > เติบโตเพื่อสร้างอนาคต 

T          =          Transformation > พลิกโฉมภาคการเกษตรไทย

E          =          Establish > สร้างสรรค์วิสาหกิจรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสังคมเกษตรด้วยนวัตกรรม 

C          =          Connecting > เชื่อมโยงผู้คน เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้สังคม

H          =          Harmonising > ผสานความร่วมมือ ก้าวข้ามขีดจำกัด


ต่อจากนั้น ดร.กริชผกา  บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบ NIA กล่าวถึง “กลไกการพัฒนาและแนวทางการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ได้แก่ 1) การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสตาร์ทอัพให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการ 2) การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้างสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และ 3) การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตร สร้างให้เกิดกิจกรรมเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศให้ทำงานร่วมกัน


ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย โดยมียุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรด้านสตาร์ทอัพการเกษตรผ่านงานวิจัยและพัฒนา ร่วมกับการสร้างความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมตั้งแต่เยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเกษตร ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการร่วมดำเนินงานกับ NIA ในการศึกษาประเมินรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่พัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตร-อาหาร เพื่อสร้างให้เกิดเป็นพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรรมร่วมกันด้านการเกษตร (Co-farming Space) ในการบ่มเพาะ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และลงมือปฏิบัติ ที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และนวัตกรรมเกษตรชั้นนำของไทย 


ตามมาด้วยส่วนสำคัญในสรุปรายงานผลการศึกษาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของไทยประจำปี 2564 หรือ Thailand AgTech Startup Ecosystem Report 2021 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้ จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยใน พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) อายุธุรกิจเฉลี่ย 4.7 ปี สามารถแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 ซึ่งจะกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูล และสัมภาษณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอก ไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก


จากนั้นเป็นการเสวนา “บทบาทและความท้าทายของการพัฒนา Thailand AgTech Startup Ecosystem” กับผู้แทนสำคัญในระบบนิเวศ เริ่มต้นด้วย นายนฤชา   ฤชุพันธุ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แนะนำบทบาทของ BOI แนวทางการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งด้านการเกษตรก็ครอบคลุมทั้ง 8 หมวด ซึ่งจะแบ่งระดับสิทธิประโยชน์ตามความสำคัญของเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่การผลิต และ Smart Visa เพื่อช่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและสตาร์ทอัพเข้าร่วมบ่มเพาะเร่งสร้างโปรแกรมในประเทศไทยเฉพาะมาร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ 


อีกหนึ่งเครือข่ายนายนพดล  ศรีสรรค์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้นำเสนอกองทุนร่วมลงทุนสำหรับสตาร์อัพด้านการเกษตรและการเชื่อมโยงสู่เกษตรกร โดยระยะแรกมีเงินร่วมลงทุน 600 ล้านบาท ในระยะ 3 ปี โดยกำลังจะประกาศรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร รวมถึงเกษตรกรที่จะปรับตัวเป็นผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ปรับประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ในปี 2564 จะเปิดรับสมัครเข้าร่วมคัดสรรการร่วมลงทุนกับ ธกส. เริ่มในวันนี้จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะบ่มเพาะนักธุรกิจใหม่ในกลุ่มของทายาทเกษตร หรือผู้ที่สนใจในการทำเกษตร เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรต่อไป

ส่วนอีกกองทุนที่น่าสนใจโดย คุณนฤศันส์  ธันวารชร หัวหน้าส่วนบริหารการลงทุน บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace) ที่จะร่วมสนับสนุนปิดช่องว่างในช่วง Early Stage Startup ในกลุ่ม Deep Tech ที่เคยได้รับเงิน grant จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อต่อยอดขยายตลาดผลการใช้งานได้รวดเร็วขึ้น 

ปิดท้ายด้วย ดร.กัลย์  กัลยาณมิตร ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาเล่าถึงการพัฒนาจากย่านนวัตกรรรมเกษตร-อาหาร และ Co-Farming Space สร้างพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการเกษตร ที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนใน


ในช่วงผู้แทนสตาร์ทอัพด้านการเกษตร มาแชร์ประสบการณ์การเติบโตในระบบนิเวศของประเทศไทย เริ่มต้นด้วย คุณอุกฤษ  อุณหเลขกะ Co-Founder Ricult วิศวกรคอมพิวเตอร์จากซิลิกอนวัลเลย์ที่นำด้านข้อมูลด้านการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมผ่านการประมวลด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ทำนายผลผลิตและคาดการณ์รายได้ของเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรเข้าใชงานมากกว่า 500,000 คน ทำให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุน จึงได้รับการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศมากกว่า 180 ล้านบาท โดยมีข้อคิดเห็นไว้ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าตลาดสูง ทำให้สนใจในลงทุนกับสตาร์ทอัพเกษตรโดยเฉพาะในประเทศไทยที่ความพร้อม ซึ่งยังมีอีกหลากหลายแนวทางที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านกเกษตรได้มากขึ้น 


สตาร์ทอัพอีกราย คือ FarmBook : แพลตฟอร์มช่วยเกษตรกรเพื่อจัดการตั้งแต่การผลิตจนถึงการออกสู่ตลาด โดยคุณทรัพย์วรา  เจริญพานิชสกุล CMO & Co-Founder FarmBook ที่เริ่มต้นมาจากการบ่มเพาะในโครงการของ Inno4Farmers เป็นเวทีแห่งโอกาสได้แสดงผลงานมีโอกาสเชื่อมโยงกับทาง ธกส. และ Modern Trade ทำให้เกิดเชื่อมโยงเกษตรกรและตลาด เกิดการแพร่กระจายการใช้งานมากขึ้นทั้งพืชผัก และพืชเศรษฐกิจอย่างหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งมีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ช่วยสนับสนุนเกษตรกรตั้งแต่การปลูกจนถึงการขายสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งปีนี้กำลังจะได้รับการลงทุนจาก ธกส. โดยมีสิ่งที่ฝากไว้คือ ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย และสนับสนุนข้อมูลขนาดใหญ่ให้นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น 


ปิดท้ายด้วย คุณมณฑา  ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ที่มีการออกแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้คิดพร้อมพัฒนาทักษะ ร่วมกับลงมือปฏิบัติจริง ที่สำคัญมีพันธมิตรทางธุรกิจร่วมทั้งเกษตรกร ผู้ใช้งาน บริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงนักลงทุน เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ไขหรือตอบโจทย์ปัญหาใหม่ๆ ทางด้านการเกษตรมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มากขึ้น 

และมีการประกาศที่สำคัญยิ่งของการรวมกลุ่มของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งประกาศการจัดตั้งเป็นสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย หรือ Thai AgTech Startup Association, TASA โดยมี NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาร่วมสนับสนุน จากนั้นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร มาให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ในแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต คือ การร่วมกันสนับสนุนในการช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น การสร้างให้เกิดมาตรฐาน ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่มาควบคุมคุณภาพ การแลกเปลี่ยนเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การสร้างพลังร่วมกันในการสร้างเปลี่ยนแปลง การสร้างเป้าหมายและสร้างแรงผลักดันให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้เติบโตต่อไป โดยในระหว่างการจัดตั้งสมาคม TASA สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

คุณทินวัฒน์ ศรีทัดจันทา (กอล์ฟ)

- โทรศัพท์ 02-017 5555 ต่อ 552

- มือถือ 098-257 0888

- อีเมล [email protected]


#NIA #มหาวิทยาลัยแม่โจ้ #AgTechStartup #WhitePaper