สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ทุเรียนไทย: อัญมณีแห่งรสชาติและและสารอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม
ทุเรียนไทยไม่เพียงมีรสชาติยอดเยี่ยม แต่ยังเต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษาตำแหน่งในตลาดโลกและเพิ่มมูลค่าการส่งออกในอนาคต
จากผลงานวิจัยจาก Hainan Academy Agricultural Sciences [1] พบว่า ทุเรียนที่ปลูกในจีนมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทองในจีนไม่มีสาร เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบและการติดเชื้อ อีกทั้งยังช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและมะเร็ง [2] ในขณะที่ทุเรียนก้านยาวจากจีนมีเควอซิทินต่ำกว่าทุเรียนจากไทยถึง 520 เท่า และต่ำกว่าทุเรียนหมอนทองจากไทยถึง 540,000 เท่า
สารสำคัญอีกชนิดที่มีประโยชน์ในทุเรียน คือ กรดแกลลิก (Gallic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง พบในทุเรียนหมอนทองไทยมากกว่าทุเรียนจีนถึง 906 เท่า [1] สารนี้ช่วยลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการเสื่อมสภาพ และลดการอักเสบของผิวหนัง
งานวิจัยชี้ชัดว่า ทุเรียนไทยมีเควอซิทินสูงสุดถึง 2,549.30 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และยังมีสารอาหารที่หลากหลายและมีปริมาณสูง ดังนั้นการบริโภคทุเรียนไทยไม่เพียงแต่ให้รสชาติที่ดีเยี่ยม แต่ยังเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าทางสุขภาพอีกด้วย
ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าใน 6 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิรไทย และในปี 2566 จีนบริโภคทุเรียนถึง 91% ของตลาดโลก ข้อมูลจากสมาคมตลาดสินค้าเกษตรจีน (CAWA: China Agriculture Wholesale Market) [4] ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับทุเรียนไทยในปัจจุบัน โดยทุเรียนไทยยังได้เปรียบเรื่องรสชาติ รวมทั้งคุณภาพและสารอาหารที่โดดเด่น
ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปจีนในตอนนี้ได้แก่ เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะเป็นผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันตลาดทุเรียนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมตัวและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด อย่างไรก็ตามการส่งออกทุเรียนไปจีนยังคงมีข้อจำกัดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อกำหนดที่เข้มงวดของจีนเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียน เช่น ผู้ปลูกและโรงบรรจุต้องมีการแสดงหลักฐานและเอกสารที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยและคุณภาพที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังต้องมีการบันทึกการควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ [5] ซึ่งทำให้การส่งออกไปจีนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับข้อกำหนดเหล่านี้
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ดำเนินการบ่มเพาะและมอบทุนสนับสนุนให้สตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และสร้างตลาดใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมี 7 ทีมที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นในด้านการปลูกและตรวจสอบคุณภาพทุเรียน [7-11] ได้แก่
1. Pureplus: หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับการปรับปรุงด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำ (low-energy ion beam modified microbiial strains) สำหรับการยับยั้งและป้องกันเชื้อโรคในพืชเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความสามารถของจุลินทรีย์ในการต้านทานเชื้อโรค และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีในการเกษตรและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
2. Morena: สารเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับพืชด้วยเทคโนโลยีนำส่งระดับนาโน ส่งผลให้พืชสามารถดูดซึมสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน สามารถแก้ปัญหาโรคต่างๆ และสามารถฟื้นฟูต้นพร้อมออกลูกได้
3. Biom: เทคโนโลยีจุลินทรีย์คึกคักได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยฟื้นฟูคุณภาพดินจากสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสำคัญของการปลูกทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุเรียนมักเกิดอาการอ่อนแอและใบเหี่ยวเฉา จุลินทรีย์คึกคักสามารถช่วยฟื้นฟูต้นทุเรียนให้กลับมามีใบเขียวสดใส เสริมสร้างความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของต้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตในฤดูกาลถัดไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. DURICO: ระบบบริหารจัดการฟาร์มทุเรียนเพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและจัดการผลผลิต ลดต้นทุนแรงงาน และเพิ่มความแม่นยำในการประเมินผลผลิต พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจในการบริหารฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ
5. FarmConnect Asia: ระบบบริหารจัดการการให้น้ำและปุ๋ย (Precision Irrigation) ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นสมองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ที่ประกอบด้วยชุดเซ็นเซอร์สถานีดิน สถานีอากาศ ชุดควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ย พร้อมแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการให้น้ำและปุ๋ยอย่างแม่นยำให้ตรงตามความต้องการของทุเรียน ทำให้เพิ่มอัตราการเจริญเติบโต ลดต้นทุนพลังงาน ระยะเวลาทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปุ๋ย และเพิ่มกำไรได้เพิ่มมากขึ้น
6. Insecto: กับดักแมลงโซล่าเซลล์อัตโนมัติ พร้อมระบบคาดการณ์การระบาดแมลงศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยส่งข้อมูลภาพชนิดและจำนวนแมลงศัตรูพืชแจ้งเตือนผ่านไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อให้เกษตรกรเตรียมตัววางแผนและป้องกันการระบาดของแมลง ส่งผลให้เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีที่เกินความจำเป็น ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี และปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
7. Durian AI: ระบบอัตโนมัติสำหรับคัดเกรดคุณภาพทุเรียนส่งออก โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงและปัญญาประดิษฐ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกให้รวดเร็วและแม่นยำ ลดความเสียหาย ลดต้นทุน และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
เอกสารอ้างอิง
บทความโดย
จุฑามาศ บุญชัย (กวาง)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)