สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
ทะยานแบบ “เต่าบิน” ถอดความสำเร็จการออกแบบ Robotic Barista ที่ทำกำไรได้วันละล้านบาท
คิดสิ คิดสิ คาปูชิโน่ เอสเปรสโซ่ อาราบิก้า..
ที่ต้องคิดเยอะแบบนี้ก็เพราะว่า “ตู้เต่าบิน” หรือตู้ Robotic Barista นั้นเปรียบเหมือนคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ที่มีเมนูให้เลือกมากมาย แถมไม่ต้องช็อตฟิลรอบาริสต้าชงนาน เพราะแค่ไม่กี่วินาทีก็จะได้เครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นให้ได้ลิ้มลองในเวลาเร่งรีบ ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์สุดไวรัลจนใครๆ ก็ต้องมาต่อแถวซื้อกัน กระแสที่แรงเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอนโด ศูนย์กลางค้า หรืออาคารต่างๆ ที่มีผู้สัญจรเป็นจำนวนมาก ก็มักจะมีตู้เต่าบินตั้งอยู่เสมอ
ด้วยเมนูที่หลากหลายนับร้อยเมนู ราคาที่ย่อมเยา การบริการที่รวดเร็ว สะอาดปลอดภัย แถมรองรับการจ่ายเงินในหลายช่องทาง ทำให้ “เต่าบิน” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันสามารถทำรายได้มากถึง 2.47 แสนล้านบาท หรือถ้าคิดเป็นกำไรต่อวันสูงถึงหลักวันละล้านบาทเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นอีกนวัตกรรมของคนไทยที่น่าจับตา แต่กว่าจะมาเป็นตู้เต่าบินที่ทุกคนรู้จัก เคยสงสัยกันไหมว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้
จากไอเดียตู้ขายน้ำกระป๋องที่มีอยู่ทั่วตลาด สู่ตู้ทำน้ำอัตโนมัติที่มีจำนวนสิทธิบัตรมากถึง 35 รายการ
เริ่มมาจากการล้มแล้วลุก เพราะตู้เต่าบินคือหนึ่งในผลงานจาก บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยพัฒนานวัตกรรมตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือที่ตั้งอยู่ทั่วทุกที่ทั่วไทย อย่าง “ตู้บุญเติม” มาแล้ว แต่สำหรับตู้เต่าบินนั้นเริ่มมาจากการที่บริษัทต้องการทำตู้ขายน้ำกระป๋อง ซึ่งทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะพอหักลบต้นทุน ค่าแรงก็ไม่คุ้มทุน แถมมีคู่แข่งหลายรายที่อยู่ในตลาดนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จดังใจหวัง
ผู้นำองค์กรรวมถึงทีมวิศวกรจึงร่วมกันหาแนวทางใหม่ โดยนำสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วซึ่งก็คือตู้จำหน่ายสินค้าแบบเกลียวหมุน (Spiral Vending Machine) มารื้อและพัฒนาระบบเครื่องใหม่จนกลายมาเป็นตู้เต่าบินเวอร์ชันแรกขึ้นมา โดยสิ่งที่ทำให้ไม่เหมือนใครเลยก็คือ การตั้งระบบให้เครื่องใส่ผงลงแก้วแล้วชงในแก้วได้เลย ต่างกับเครื่องชงกาแฟทั่วไปที่ต้องทำความร้อนก่อนเพื่อละลายจนเป็นน้ำให้เราดื่ม ทำให้ได้อรรถรสเหมือนได้มาจากมือบาริสต้า ซึ่งในปัจจุบันตู้เต่าบินสามารถทำได้มากถึง 170 เมนู และมีสิทธิบัตรในเครื่องมากถึง 35 รายการ
“คนต้องการคาเฟ่แบบ 24 ชั่วโมง” เข้าใจ Pain Point ลูกค้า แล้วพัฒนามาเป็นบริการที่ครองใจคน
แค่ที่มาที่ไปก็ว่าปังแล้ว! แต่การจะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ครองใจคนและยืนระยะได้เป็นเวลานานไม่ใช่เรื่องง่าย อีกหนึ่งส่วนที่ทำให้เต่าบินครองใจลูกค้าได้จำนวนมากได้ นั้นมาจากแนวคิด “Customer Centric” ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อะไรที่เป็น Pain Point เต่าบินก็เข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
ตั้งแต่ ความต้องการคนในปัจจุบันที่ต้องการคาเฟ่ที่เปิดแบบ 24 ชั่วโมง ตู้เต่าบินก็สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด จะมีช่วงพักแค่ช่วงพนักงานมาเติมวัตถุดิบหรือซ่อมบำรุงเท่านั้น หรือลูกค้าโดยส่วนใหญ่มีทั้งคนที่ชอบเครื่องดื่มแบบหวานและไม่หวาน ก็มีเมนูให้เลือกระดับความหวานได้ ไม่มีเงินสดก็สามารถสแกนจ่ายผ่านตู้หรือตัดผ่านบริการทางการเงินอื่นๆ ได้สะดวก แถมมีระบบคูปองและสมาชิก ที่เป็นการเก็บกระดองแล้วสามารถนำมาแลกน้ำฟรีได้ในภายหลัง ก็ยิ่งทำให้เกิดความ Royalty ต่อแบรนด์มากขึ้น และอีกหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับใครหลายคนก็คือ การออกแบบ User Experience ที่อธิบายในแต่ละขั้นตอนแบบเข้าใจง่าย ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหญ่ก็สามารถเข้ามาใช้บริการตู้เต่าบินได้
“Made in Thailand” สร้างทีม สร้างนวัตกรรม โดยคนไทยเพื่อคนไทย ในทุกรายละเอียด
ในความสำเร็จทั้งหมดนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “คน” หรือ “นวัตกร” ที่ได้สร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา ตู้เต่าบินนับเป็นอีกนวัตกรรมที่ทำโดยคนไทยเองทั้งหมด โดยทีมผู้บริหารให้ความเป็น Ownership สูงมากกับทีมผู้พัฒนา ทุกกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เกิดขึ้นจากทีมวิศวกรภายในบริษัทเองทั้งหมด และมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็นส่วนๆ ได้ชัดเจน
ตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบอย่างการดูแลชุดผง ไซรัป ไปจนถึงส่วนที่เป็นอุปกรณ์จักรกล การดูแลหัวชง แขนชั่งแก้วและการล้าง แม้แต่ถาดกันมดก็ผ่านวิธีคิดมาเป็นอย่างดี ส่วนไหนที่ต้องจดสิทธิบัตร ก็ให้สิทธิ์ผู้พัฒนาลงชื่อของตัวเองไว้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำ Data ที่ได้มาจากการซื้อขายมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมออีกด้วย ทำให้เต่าบินสามารถสร้างการเติบโตขึ้นไปได้เรื่อยๆ จนมีการประเมินกันว่า ในไตรมาส 3 ของปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนตู้กว่า 3,572 ตู้ และภายใน 3 ปีนี้ (พ.ศ. 2565-2667) บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีตู้เต่าบินมากถึง 20,000 ตู้ ทั่วประเทศไทย
นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จและสร้างปรากฏการณ์ได้เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ “ตู้เต่าบิน” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภท การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2565 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาครองได้ในที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.brandbuffet.in.th/2022/05/tao-bin-cafe-is-planning-for-an-ipo/
https://thestandard.co/tao-bin-a-robotic-barista-suscess/
https://capitalread.co/taobin/
https://futuretrend.co/taobin-customer-centric/