สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“คุณภาพชีวิตคนไทย” อยู่อันดับไหนในเวทีโลก?

บทความ 9 ธันวาคม 2563 18,057

“คุณภาพชีวิตคนไทย” อยู่อันดับไหนในเวทีโลก?

“คุณภาพชีวิตที่ดี” ในความคิดของคุณคืออะไร?


บางคนอาจโฟกัสที่เรื่องใหญ่ๆ อย่างการมีระบบการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ หรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ขณะที่บางคนแค่จินตนาการถึงถนนโล่งๆ ที่ไม่มีรถติด ก็ถือว่าชีวิตดีแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะแต่ละคนก็มีมุมมองต่อวิถีชีวิตแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ แต่หากมองจากมุมของนานาชาติล่ะ… ชีวิตของคนไทย จะมีคุณภาพแค่ไหนกัน?

อันดับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมปี 2020

จากการจัดอันดับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index - SPI) ปี 2020 ที่จัดทำโดย Social Progress Imperative องค์กรสัญชาติอเมริกันที่ทำวิจัยด้านคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จากทั้งหมด 163 ประเทศ และถ้าเทียบกันเองในอาเซียนแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น


การจัดอันดับ SPI ครั้งนี้ มาจากการประเมินตัวชี้วัดด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากถึง 12 หัวข้อ รวม 50 ปัจจัย ซึ่งครอบคลุม 3 มิติใหญ่ๆ ได้แก่ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี (Foundation of Wellbeing) รวมถึงโอกาสทางสังคม (Opportunity and Inclusiveness) โดยประเทศไทยได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 70.72 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 67.47 ในปีที่ผ่านมา

3 ปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศไทยได้อันดับสูงสุด

แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่ประเทศไทยก็นับว่าเห็นความก้าวหน้าด้านคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยด้านสุขภาพและอนามัย ด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง และด้านที่อยู่อาศัย ที่ตอนนี้อยู่ในอันดับที่ 43 54 และ 74 ตามลำดับ

3 ปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศไทยได้อันดับต่ำสุด

ในทางกลับกัน เรื่องที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงโดยเร็ว คือ ปัจจัยด้านการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยและความมั่นคง และด้านสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ที่รั้งอันดับ 98 119 และ 136 ตามลำดับ 


จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ถูกนำมาจัดอันดับ SPI ครอบคลุมหลากหลายประเด็น และต้องอาศัยทั้งความร่วมมือของประชาชน นโยบายการดำเนินงานของภาครัฐ และที่สำคัญคือ ‘นวัตกรรม’ ที่จะเข้ามาผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้อย่างเห็นผล


สำหรับ NIA เองให้ความสำคัญกับการพัฒนา “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยจัดการปัญหาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตมิติต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของสังคมเมืองและผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การเข้าถึงบริการภาครัฐ การดูแลกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม การศึกษา การแก้ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง ฯลฯ


ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่มีไอเดียนวัตกรรมดีๆ ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ NIA ก็พร้อมให้การสนับสนุนคำแนะนำและเงินทุน เพื่อต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง อย่าลืมติดตามโครงการขอรับทุนสนับสนุนนวัตกรรมได้ที่ https://mis.nia.or.th/nia... ไม่แน่ว่าวันหนึ่งนวัตกรรมของคุณจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยไต่อันดับ “ประเทศคุณภาพชีวิตดี” ไม่แพ้ประเทศ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ก็เป็นได้