สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“Pipebots” สายตรวจจิ๋วสำรวจท่อน้ำ นวัตกรรมจากภาคประชาชน ช่วยภาครัฐประหยัดงบสองแสนล้านบาท

25 มิถุนายน 2566 1,912

“Pipebots” สายตรวจจิ๋วสำรวจท่อน้ำ นวัตกรรมจากภาคประชาชน ช่วยภาครัฐประหยัดงบสองแสนล้านบาท 

💧ปัญหาด้านสาธารณูปโภคดูเหมือนจะเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่ไม่ว่าประเทศไหนต่างก็ประสบพบเจอกันหมด แม้กระทั่งในสหราชอาณาจักร หรือ ‘เมืองผู้ดี’ อย่างประเทศอังกฤษก็ยังหนีไม่พ้น

โดยหากเจาะลงไปใต้ถนนหรือตึกรามบ้านช่องของอังกฤษ จะพบว่ามีท่อน้ำประปาทอดยาวกว่า 8 แสนกิโลเมตรซ่อนอยู่ และด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงไม่แปลกเลยหากจะพบรอยรั่วที่จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่เป็นประจำ แต่เพราะยังไม่มีเครื่องมือในการระบุตำแหน่งที่เป็นปัญหา ทำให้การซ่อมแซมมักจะลงเอยไปกับการขุดเจาะเพื่อรื้อถนนทั้งหมดขึ้นมา ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 250,000 ล้านบาทในการปรับปรุงท่อน้ำแต่ละปี

ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพ ที่ Ofwat  ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลคุณภาพน้ำในอังกฤษและเวลส์ ได้ประมาณการไว้ว่า 20% ของประชาชน กำลังประสบปัญหาในการชำระค่าน้ำประปา จึงมีการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องใน Water Industry เร่งจัดการปัญหาที่อาจกระทบถึงกัน จน Water UK องค์กรสมาชิกที่เป็นตัวกลางจากหน่วยงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับนักวิจัยในแขนงวิชาเฉพาะทางต่างๆ อย่างเช่น Programme Director, SLAM, Sensors, Robotics โดยพวกเขามีความคิดเห็นเหมือนกันว่าจำเป็นต้องพี่งพาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาสร้างทางออกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

เมื่อเริ่มจัดทีมภายใต้โครงการ “Pipebots” ที่มีเป้าหมายในการผลิตหุ่นยนต์สำรวจท่อน้ำ ซึ่งมีความสามารถในการค้นหาและระบุตำแหน่งที่พบการรั่วไหล ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เพียงแค่การช่วยประหยัดน้ำไปกว่า 3 พันล้านลิตร แต่ยังเป็นการประหยัดงบจากการเลือกซ่อมบำรุงแบบเฉพาะจุดได้แทน 

นอกจากนี้ Pipebots ยังถูกพัฒนาต่อมาอีกในหลายเวอร์ชัน ตั้งแต่รูปทรงที่มีหางให้สามารถว่ายน้ำ รูปทรงก้นหอยสำหรับการกลิ้ง รวมไปถึงกำลังพยายามทดสอบให้ Pipebots ทำการอุดซ่อมรอยรั่วได้ด้วยตัวเอง ผ่านการอัดฉีดวัสดุแบบพิเศษ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องขุดเจาะถนน จึงเป็นการช่วยลดห่วงโซ่ผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน มลพิษ การจราจร รวมไปถึงเสียงที่ดังรบกวนการใช้ชีวิตของผู้คนในระแวกนั้น

แต่ Pipebots ก็ยังเจอกำแพงใหญ่ เนื่องจากสัญญาณวิทยุสำหรับสื่อสารที่ไม่สามารถฝ่าลงไปถึงใต้ดินได้ ทั้งยังถูกปิดกั้นด้วยน้ำที่เป็นตัวดูดซับชั้นดี จนคลื่นวิทยุทะลุผ่านลงไปได้เพียงไม่กี่สิบเมตร ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงต้องหาทางเลือกอื่น เช่น การส่งสัญญาณด้วยเสียงหรือแสงที่มนุษย์ไม่ได้นำมาใช้เป็นสัญญาณสื่อสารหลัก โดยหาก Pipebots ถูกพัฒนาได้อย่างเต็มขั้น ปัญหาเรื่องการซ่อมท่อน้ำของอังกฤษก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กลงไปได้ 

นี่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า “การบริการสาธารณะ” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นขึ้นมาจากหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นผ่านประชาชนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันตลาดของภาครัฐก็เป็นอีกช่องทางที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะงานบริการภาครัฐที่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งจาก Digitaljournal ได้ระบุไว้ว่า ในปี 2021 ตลาด GovTech ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 412,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวต่อปีแบบทบต้นอยู่ที่ 16.37% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1,023,000 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 4 ปีข้างหน้า

NIA เชื่อว่านี้คือโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเพื่อบริการภาครัฐ จึงพยายามส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านองค์ความรู้ เครือข่ายความร่วมมือ และที่สำคัญที่สุดคือการมอบโอกาสให้นวัตกรได้เข้าถึง “เงินทุน” จนสามารถเติบโตและขยายผล ช่วยพัฒนานวัตกรรมไทยไปสู่สากล ซึ่งสามารถติดตามประกาศการเปิดรับสมัครทุนสนับสนุนทั้งหมดจากการประชาสัมพันธ์บนเพจ NIA ได้เลย

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.youtube.com/watch?v=lPFPXC3yFFs 
https://www.thaipbs.or.th/news/content/323160 
https://www.ofwat.gov.uk/pn-37-22-33-rise-in-number-of-customers-struggling-to-pay-their-water-bill/ 
https://pipebots.ac.uk/ 
https://www.bbc.com/news/science-environment-64052740 
https://www.digitaljournal.com/pr/news/theexpresswire/gov-tech-market-share-size-2023-top-players-market-share-future-growth-by-2029-nextdoor-moovit-axon