NIA เข้าร่วมการประชุม Plenary Meetings of the OECD
Initiative for Policy Dialogue on Global Value Chains, Production Transformation and Development ครั้งที่ 18
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นการประชุมต่อยอดจากการประชุม Global Value Chain ของ OECD ในเดือนพฤศจิกายน 2564
การจัดงานในครั้งนี้มุ่งเน้นถึงประเด็นการพัฒนาการสนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Financing a Transformative Recovery) การพัฒนาและขยายระบบนิเวศนวัตกรรม (Chasing Innovation Frontier) และนโยบายการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ (Production Transformation Policy) โดยมีจุดประสงค์หลักของคณะทำงาน OECD Development คือการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี 2558 ในปัจจุบัน OECD Development ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงภาคการผลิต (Investing in transformative sector) เพื่อสอดรับกับความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤต COVID-19
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา OECD Development ได้มีตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนในระดับต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฯลฯ ที่ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติของแต่ละประเทศในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและทำให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการลงทุนของกลุ่มประเทศ OECD และประเทศอื่นๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้
Dr. Analisa Primi หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ (Economic Transformation and Development: ETD) จาก OECD Development ได้สรุปถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ในความร่วมมือ มี 3 ประการ คือ 1. ความทะเยอทะยานและการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Aspiration and Change) ซึ่งหมายถึงการยอมรับและการให้คำชื่นชมประเทศที่มีความคิดในการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่ประเทศอื่นๆ สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้ 2. แนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน (Concrete Solution) มีการทำงานของทีมงานของ ETD สามารถรวบรวมแนวทางการพัฒนาและคำแนะนำในการออกนโยบายหรือการดำเนินนโบายด้านการพัฒนาสำหรับประเทศที่สนใจได้อย่างละเอียดและใช้งานได้จริง 3. ความร่วมมือที่เข้มแข็งของสมาชิก (Strong cooperation) ในระดับโลก
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้รับเชิญจาก OECD Development ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยในประเด็นที่มีความสอดคล้องกับ OECD Development ในปัจจุบัน เช่น การทำให้เกิดระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Supply Chain) ที่มีความเข้มแข็ง การเน้นการลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ การลงทุนด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Cultural & Creative Sector) เป็นต้น
ในการนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ได้รับเชิญให้บรรยายในหัวข้อ Startup Asia: Chasing the innovation frontier ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนและแชร์แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทย เช่น Innovation Thailand, Southeast Asian Startup Assembly, National Startup Committee เป็นต้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาประเทศและเพื่อเป็นการดึงดูดและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ที่เกิดจากการต่อยอดการแลกเปลี่ยนครั้งนี้