สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

วันท่องเที่ยวโลกปีนี้ ควรลงทุนกับเรื่องอะไร?

25 กันยายน 2566 7,491

วันท่องเที่ยวโลกปีนี้ ควรลงทุนกับเรื่องอะไร? เจาะลึก 3 การลงทุน พร้อม 3 ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมการท่องเที่ยว

Investing-World-Tourism-Day-2023

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) กำหนดให้วันที่ 27 กันยายนของทุกปี เป็น “วันท่องเที่ยวโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม และมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสากลในอนาคต โดยธีมปีนี้เน้นการลงทุนเพื่อคน เพื่อโลก และเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Investments for people, for planet and for prosperity) มุ่งนำนวัตกรรมมาตอบโจทย์ต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการลงทุนแบบดั้งเดิมเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของไทย อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ NIA มุ่งเน้นให้การสนับสนุน นอกเหนือจากเกษตรอาหาร การแพทย์ สภาพอากาศ และซอฟต์พาวเวอร์ วันนี้ NIA จึงขอพาไปเจาะลึก 3 การลงทุน พร้อม 3 ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่ทุกคนสามารถตามไปเที่ยวกันได้

 

People: การลงทุนกับคน - “ม้งไซเบอร์” เนรมิตเทศกาลดนตรีกลางหุบเขา

การศึกษาถือเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาพื้นที่ชนบท แต่ 50% ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกไม่สามารถทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เนื่องจากขาดโอกาส และระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ความต้องการ แต่เน้นไปที่การบริหารจัดการโรงแรมซึ่งไม่ได้เหมาะสมกับทุกพื้นที่

 

ในประเทศไทยเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โรงเรียนบ้านน้ำจวง ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโรงเรียนแห่งเดียวในหมู่บ้าน มีนักเรียนรวมประมาณ 500 คน ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้คือ นักเรียนไม่มีความรู้และศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างรายได้จากทรัพยากรในพื้นที่ พอถึงวัยทำงานก็ต้องเข้าไปทำงานในเมือง บริษัท ม้ง ไซเบอร์ โซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด จึงร่วมกับชุมชนบ้านน้ำจวง ออกแบบหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับนักเรียนที่นี่ 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร หลักสูตรพื้นฐานการผลิตสื่อโฆษณาและสื่อออนไลน์ และหลักสูตรการแสดงดนตรีและละครเวที เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านมีโอกาสเข้าถึงอาชีพทางเลือกได้มากขึ้น และขยายผลต่อไปเป็นเทศกาลดนตรี Hmong Cyber Music Festival เพื่อให้เยาวชนที่จบหลักสูตรได้มีพื้นที่การแสดงออก ซึ่งงานนี้ก็ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย นาขั้นบันไดบนเขาสูงถูกแปลงให้เป็นลานเทศกาลดนตรี มีแสงสีเสียงยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้ชาวบ้าน และเด็ก ๆ ได้เห็นภาพว่า หมู่บ้านน้ำจวงมีศักยภาพในการสร้างรายมูลค่าได้ โดยไม่ต้องละถิ่นเข้าไปทำงานในเมือง จะเห็นได้ว่า การสร้างทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ม้งไซเบอร์1ม้งไซเบอร์2ม้งไซเบอร์3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ “ม้งไซเบอร์” ได้ที่ https://www.facebook.com/hmongcyber 

 

Planet: การลงทุนกับโลก - ทริป “ตามหาปลาลูกเบร่” ชมวิถีชีวิตประมงที่คลองปากประ

ตามหาปลาลูกเบร่

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า (Global Risk Report 2023) ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อโลกเท่านั้น แต่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดของการท่องเที่ยวเอง ทริป “ตามหาปลาลูกเบร่” ณ คลองปากประ จังหวัดพัทลุง เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นักท่องเที่ยวจะได้ล่องเรือจากคลองปากประสู่ทะเลน้อย เพื่อชมแสงแรกของวัน ยามพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณกลางลำน้ำ ชมวิถีชีวิตที่โดดเด่นไปด้วยอัตลักษณ์และภูมิปัญญา ภาพของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ยอยักษ์จับปลา รวมถึงระบบนิเวศทางธรรมชาติที่งดงาม ทั้งทุ่งดอกบัว นกน้ำหลากหลายพันธุ์ และหากเป็นช่วงน้ำลงจะได้เห็นภาพฝูงควายน้ำ ซึ่งเป็นควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้สำหรับทำการเกษตรพากันมากินหญ้าและแช่น้ำในทะเลน้อย ให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมความน่ารัก

 

โดยเส้นทางการท่องเที่ยวนี้เกิดจากการใช้เครื่องมือการมองอนาคตมาร่วมวิเคราะห์หาจุดเด่นและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ จนได้ออกมาเป็นแนวคิด “เขา ป่า นา เล” โดย “โซนเล” เป็นโซนแรกที่มีการทดลองใช้นวัตกรรมมาพัฒนาพื้นที่ นอกจากทริปท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้แล้ว ยังมีการสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นที่กำลังลดจำนวนลงอย่างมากด้วยระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ GIS เพื่อวัดพิกัดและติดตามการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาลูกเบร่ การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย และการยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่จากรูปแบบเดิมให้เป็นระบบ IOT อีกด้วย

ตามหาปลาลูกเบร่ตามหาปลาลูกเบร่

Prosperity: การลงทุนเพื่อความเจริญรุ่งเรื่อง - “Insight Wat Pho” เรียน รู้ รักษ์ ณ วัดโพธิ์

Insight Wat Pho

เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการจองตั๋ว การจองที่พัก การวางแผนการเดินทาง ระบบต่าง ๆ ในสนามบิน รวมถึงเทคโนโลยี AR VR ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การท่องเที่ยวของคุณให้น่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น อย่างโครงการ “Insight Wat Pho” เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนมือถือ ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ด้วยระบบ AR โดยจะแสดงข้อมูลองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวัดโพธิ์เชื่อมโยงกับสถานที่จริงออกมาในรูปแบบแอนนิเมชั่นและกราฟฟิกที่มีเนื้อหาที่น่าสนใจ องค์ความรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาแสดงในแอปพลิเคชันล้วนถูกคัดกรองมาจากงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จึงมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเรียนรู้ภายในวัดได้นานมากขึ้น และถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดของวัดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจ

Insight Wat PhoInsight Wat Pho

อ้างอิงข้อมูล

 

บทความโดย
ดุจรพี เชาวนปรีชา (พี)

นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)