สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

ผ่าโครงสร้าง "องค์กรนวัตกรรม" ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?

16 พฤศจิกายน 2565 7,873

ผ่าโครงสร้าง "องค์กรนวัตกรรม" ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?

เบื่อแล้วองค์กรแบบเดิมๆ อยากเปลี่ยนองค์กรให้โดนใจคนรุ่นใหม่ พร้อมคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรม!

จะหาหนังสือมาอ่าน หรือเปิดคลิปสัมภาษณ์แนวคิดก็จะพบแต่องค์กรระดับโลกที่มีสูตรความสำเร็จเฉพาะตัว เช่น Google ที่เน้นหลักคิดการทำงานแบบ DEI ซึ่งหมายถึง “Diversity (ความหลากหลาย) Equality (ความเท่าเทียม) Inclusion (การเปิดรับคนทุกคน)” ถือเป็นแนวคิดที่สอดแทรกการทำงานตั้งแต่การพัฒนานวัตกรรมไปจนถึงการดูแลพนักงาน หรือ Netflix ที่จะเน้นความเป็นอิสระ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบ (Freedom and Responsibility) ดังแนวคิดที่กลายเป็นหนังสือชื่อดังอย่าง “No Rules Rules กฎที่นี่คือไม่มีกฎ”

แต่ก็ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำเช่นนั้นได้ แล้วอะไรที่เป็นแก่นหรือโครงสร้างสำคัญที่องค์กรนวัตกรรมต้องมี NIA โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (Innovation Foresight Institute: IFI) จึงได้สกัดออกมาเป็นโมเดลที่ชื่อว่า “Innovative Organization Model” หรือเรียกสั้นๆ ว่า IOM ซึ่งเป็นการสรุปรวมให้ถึงแก่นว่าองค์กรนวัตกรรมที่ดีต้องมีอะไรบ้าง จากการศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมากที่ได้ทำงานร่วมกันมา โดยโมเดลนี้จะแบ่งออกมาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Strategy Level (ขั้นกลยุทธ์) Operation Level (ขั้นกระบวนการ) และ Foundation Level (ขั้นโครงสร้างพื้นฐาน) ส่วนในแต่ละระดับจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลย!

#StrategyLevel ขั้นกลยุทธ์ คิด ออกแบบ วางแผน เพื่อปรับเข้าสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม

• “ยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy)” วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ต้องมาก่อน! เพราะองค์กรจะขับเคลื่อนไม่ได้เลยหากไม่มีสิ่งนี้ โดยตั้งแต่เริ่ม องค์กรควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม (Vision and Strategy) สร้างค่านิยมร่วมกัน (Shared Value) และมีการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ (Strategic Evaluation) เพื่อพิสูจน์ว่าองค์กรได้ทำตามค่านิยมนั้นแล้วหรือไม่

• “การมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus)” ทำธุรกิจอะไรก็ต้องลงรายละเอียดให้ลึกเพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภค ผ่านการศึกษาเรื่องต่างๆ เช่น การวางแผนการตลาดด้วยข้อมูลเชิงลึก (Market Insight) การมีส่วนร่วมของลูกค้า (Customer Participation) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจ (Business Portfolio) ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เราเข้าใจทั้งจุดแข็งของธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายไปพร้อมๆ กัน

#OperationLevel ขั้นกระบวนการ ทำอย่างเป็นระบบ สร้างผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์กับองค์กร

• “กระบวนการ (Process)” มีการจัดการที่เป็นระบบ มีขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการคิดและวางแผนอย่าง การสร้างกระบวนการนวัตกรรม (Innovation Process) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนเสบียงของธุรกิจ และการหาเครือข่ายพันธมิตร (Partnership) ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้น

• “ผลลัพธ์นวัตกรรม (Result)” คิด มีกระบวนการ แล้วก็ต้องมีผลลัพธ์ ซึ่งผลลัพธ์จะต้องครอบคลุมตั้งแต่ ผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output) มีการสร้างรายได้จากนวัตกรรม (Innovation Revenue) และเกิดผลผลิตเชิงความรู้ (Intellectual Asset) เช่น การจดสิทธิบัตร เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่านวัตกรรมที่เราคิดและสร้างกระบวนการมามันเกิดผลขึ้นจริง

#FoundationLevel ขั้นโครงสร้างพื้นฐาน จัดการทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร คน และความรู้

• “บุคลากร (People)” คนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการจะเป็นองค์กรนวัตกรรมได้ก็จำเป็นต้องมี ผู้นำนวัตกรรม (Innovation Leader) ที่เปรียบเหมือนกับเข็มทิศของบริษัท และมีการจัดโครงสร้างองค์กร (Organization Structure) และการพัฒนาผู้นำกิจกรรมด้านนวัตกรรม (Stewardship) เพื่อสร้างคนให้พร้อมพัฒนานวัตกรรม

• “องค์ความรู้ (Knowledge)” เพราะความรู้จะนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ข้อนี้จึงมีความสำคัญมาก องค์กรนวัตกรรมจะต้องทำหน้าที่ สร้างความรู้ (Knowledge Creation) มีการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing) ซึ่งจะนำมาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Organizational Learning) ในที่สุด

• “วัฒนธรรม (Culture)” วัฒนธรรมองค์กรก็ต้องมี ซึ่งถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็สามารถเริ่มได้ด้วยการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) สร้างบรรยากาศในการพัฒนานวัตกรรม (Atmosphere) และสร้างทีมที่เน้นการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ซึ่ง 3 ข้อนี้จะกลายมาเป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรในแบบของตัวเองได้

•  “ทรัพยากร (Resource)” จัดการทรัพยากรที่มีให้ลงตัว ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการ อาทิ การจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation) หรือการจัดการงบประมาณ ต้นทุนในการทำธุรกิจต่างๆ การสนับสนุนบุคลากร (Personal Support) ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการ หรือแม้กระทั่งเงินทุน ไปจนถึงการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change Management) ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจในยุคนี้จะต้องเจอท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยีและสภาพภูมิอากาศ

และทั้งหมดนี้คือ 8 มิติที่องค์กรนวัตกรรมจะต้องมี ซึ่งถือเป็นโมเดลที่ NIA ใช้ในการประเมินองค์กรนวัตกรรมอีกด้วย ส่วนใครที่อยากศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ก็สามารถเข้าไปศึกษาผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้เลย

e-Book การจัดการสู่องค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization Book of Knowledge) >> https://www.nia.or.th/bookshelf/view/221
คอร์สเรียนจาก NIA Moocs ในคอร์สชื่อ “การสร้างองค์กรนวัตกรรม (Creating an Innovative Organization)” > https://moocs.nia.or.th/course/cio
หรือถ้าอยากดูคลิปที่สรุปไว้เป็นซีรีส์ก็สามารถติดตามได้ที่ > NIA Innovative Organization Model