สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

แชมป์ดัชนีนวัตกรรม! “สวิตเซอร์แลนด์” ดินแดนศูนย์กลางธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี

14 พฤศจิกายน 2565 2,787

แชมป์ดัชนีนวัตกรรม! “สวิตเซอร์แลนด์” ดินแดนศูนย์กลางธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี

สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่นาฬิกา แต่มีดีกรีการพัฒนาจนครองแชมป์ดัชนีโลกนวัตกรรมโลกถึง 11 ปีซ้อน!

พวกเขาก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จากประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกทางทะเล ตั้งอยู่กลางหุบเขาและรายล้อมด้วยทะเลสาบ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าก็มีเพียงน้อยนิด แถมมีประชากรเพียง 8.6 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าประชากรในจังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดเดียวเสียอีก

แต่กลับเป็นประเทศที่สามารถครองแชมป์อันดับ 1 จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกยาวนานถึง 11 ปีแซงหน้าสหรัฐอเมริกา ที่เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงถึง 100,750 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นศูนย์กลางของโลกจากการเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) สหประชาชาติ (UN) ฯลฯ  รวมถึงได้รับสมญานามว่าเป็นแหล่งรับฝากเงินของโลกที่อ้าแขนรับคริปโทเคอร์เรนซีด้วย ดีกรียิ่งใหญ่เบอร์นี้ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

รากฐานนวัตกรรมการเมืองแข็งแรง! ก่อร่างสร้างประเทศมาแบบสมาพันธรัฐ เน้นการออกเสียงโดยประชาชน (Referendum) และความเป็นกลางทางการเมืองโลก

สวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความมั่นคงทางการเมืองสูงมากและแทบจะไม่เคยมีข้อขัดแย้งกับประเทศไหนในโลกร่วมสมัย ตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ถูกสร้างมาด้วยแนวคิดแบบสมาพันธรัฐ (Confederation) คือมาจากการรวมแคว้นหรือเมืองต่างๆ มาไว้ร่วมกัน แต่ก็มีสภาผู้แทนของเมืองเป็นผู้บริหารจัดการเมืองต่างๆ มาตั้งแต่อดีต จนกระทั่งสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ก็ได้มีการนำแนวคิดเดิมมาผสมผสานด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีเมืองอยู่ประมาณ 26 มณฑล (Canton) มีประชากรแค่ราว 8.6 ล้านคน

โดยสิ่งที่โดดเด่นมาตลอดเลยก็คือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติไม่ได้อยู่ที่สภา แต่อยู่ที่ “ประชาชนโดยตรง” เน้น “การออกเสียงประชามติ (Referendum)” ทำให้นโยบายต่างๆ มีความก้าวหน้ามาตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการเมืองที่สำคัญ และตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สวิตเซอร์แลนด์ยังออกตัวว่า มีสถานะเป็นประเทศ “Perpetual Neutrality” หรือ “เป็นกลางตลอดไป” ในทางด้านการทหาร ยิ่งทำให้เอื้อทั้งในเรื่องการค้า การเงิน การศึกษา และการพัฒนานวัตกรรมอย่างเต็มที่

ด้านการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมก็เน้นการพัฒนาแบบวิธีการ “Bottom-Up” หรือ “จากล่างขึ้นบน” ซึ่งเป็นการนำคนที่มีความรู้ในแต่ละสายมาช่วยออกแบบนโยบายและการลงทุนให้กับประเทศ มากกว่าการเน้นออกนโยบายโดยภาครัฐ ทำให้มีสถาบันด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นระดับโลกอย่าง ETH Zürich ที่เป็นแหล่งผลิตนักคิดที่ได้รางวัลโนเบลระดับโลกมากมาย เช่น Albert Einstein ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ Wilhelm Conrad Roentgen ผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ (X-Rays) ฯลฯ และมีสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ “Innosuisse is the Swiss Innovation Agency” ให้การสนับสนุน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับ NIA ในปัจจุบัน ด้านการเงินก็มีระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง จนใครๆ ก็พูดว่า ฟรังก์สวิส ถูกยกให้เป็นหนึ่งใน สินทรัพย์ปลอดภัยของโลก

RegTech ก้าวหน้า ธนาคารสวิตฯ ขึ้นชื่อด้านความปลอดภัยเกือบ 300 ปี แต่ทันกระแสโลกบล็อกเชนด้วยกฎหมาย DLT law

ไม่ใช่แค่เสถียรภาพทางการเมืองเท่านั้น ความก้าวหน้าด้านกฎหมายและการกำกับดูแลก็เอื้อให้ระบบนิเวศทั้งหมดเติบโตมากขึ้นไปอีก จากการที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ออกกฎหมายที่มีชื่อว่า “DLT Law” ซึ่งเป็นการกำกับดูแลธุรกรรมในกลุ่ม Blockchain โดยเฉพาะ เรียกได้ว่ากรณีนี้สร้างเสียงฮือฮาให้กับคนในวงการ Blockchain และ Cryptocurrency ไม่น้อย โดยกฎหมายดังกล่าวจะคุ้มครองกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลหนึ่งล้มละลายและคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นจุดเด่นตั้งแต่ภาคการเงินและธนาคารในแบบดั้งเดิม

ด้วยความที่ธนาคารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงด้านการเก็บรักษาความลับของลูกค้ามายาวนานเกือบ 300 ปี ประกอบกับในยุคหลังปี ค.ศ. 1934 ที่มีกฎหมายการรักษาความลับของธนาคารที่เข้มงวดอย่าง “Federal Act on Banks and Savings Banks” ยิ่งเป็นการการันตีความปลอดภัยมากขึ้นไปอีก รวมถึงกฎหมายภาษีที่เอื้ออำนวยกับผู้ที่นำทรัพย์สินมาฝากไว้ในธนาคาร ทำให้มหาเศรษฐีทั่วโลก โยกย้ายทรัพย์สินมาไว้ที่นี่

โดยมีการประเมินกันว่า ธนาคารในประเทศที่อยู่ในรูปแบบ Private Banking มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการข้ามชาติกว่า 273 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของสินทรัพย์กลุ่มนี้ทั้งหมดทั่วโลก โดยกลุ่มธนาคารที่ใหญ่สุดในประเทศ ก็คือ UBS Group, Credit Suisse ฯลฯ ที่แม้จะมีประเด็นด้านความปลอดภัยอยู่บ้าง แต่ภาครัฐก็เข้าไปกำกับดูแลทันที

สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไร แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินและการธนาคารจะดำเนินโดยภาคเอกชนเป็นหลัก แต่ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เอื้อให้เกิดเม็ดเงินทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการมีเงินหมุนในประเทศมากขึ้นก็ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายด้านตามมา

ทำความรู้จัก “Zug” Crypto Valley ของโลก ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน จุดกำเนิดเหรียญชื่อดัง Cardano, Tezos ฯลฯ .

แม้ธุรกิจการธนาคารของที่นี่จะเข้มแข็งและเก่าแก่มาก แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ให้ความสำคัญกับ Future of Money ซึ่งก็คือ Cryptocurrency นอกเหนือจากการมีกฎหมายที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง DLT Law ที่นี่ยังเป็นอีกประเทศที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลภายในประเทศได้

โดยเฉพาะในเมือง Zug เมืองเล็กๆ ติดทะเลสาบ ที่มีประชากรเพียง 3 หมื่นคน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น Crypto Valley ของโลก ด้วยความที่เป็น “เมืองแห่งเทคโนโลยีของภาคพื้นยุโรปและเป็นเมืองที่ภาษีต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป” ประกอบกับการเป็นเมืองที่อยู่ในประเทศที่อิงแนวคิด Decentralized ก่อนกาล!  Zug จึงเป็นเมืองที่เหมาะกับการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ทุกประการ ที่นี่เลยเป็นต้นกำเนิดและ Headquarter หลักของหลายบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ

“Cardano (Ada)” เครือข่ายบล็อกเชน Smart Contract มาแรง! ที่มีฉายาว่า Ethereum Killer ซึ่งก่อตั้งมาจากผู้ร่วมสร้าง Ethereum อย่าง Charles Hoskinson โดยมีจุดเด่นการใช้งานในแบบ Open Source และการประมวลผลแบบกระจาย ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถพัฒนา Protocol หรือแอปพลิเคชันเพื่อรองรับการทำธุรกรรมในเครือข่ายนี้ได้แบบเสรี ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำผ่านเหรียญที่มีชื่อว่า ADA ซึ่งชื่อนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อโปรแกรมเมอร์หญิงคนแรกของโลกอย่าง Ada Lovelace อีกด้วย

“Tezos”  อีกหนึ่งเครือข่ายบล็อกเชนที่ออกตัวว่าเป็นมิตรกับโลก เพราะสร้างอยู่บนเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานกว่า และมีเครือข่าย NFT Community ขนาดใหญ่อย่าง OBJKT. ที่สร้างบนเครือข่ายนี้ ถ้าใครยังนึกไม่ออกให้นึกถึง OpenSea ที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนผลงาน NFT ผ่านการทำธุรกรรมด้วยเหรียญ Ethereum แต่ OBJKT. เป็นเครือข่ายที่เน้นการทำธุรกรรมผ่านเหรียญที่มีชื่อว่า Tezos แทน

ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบนิเวศนี้เท่านั้น มีการประเมินกันว่า มูลค่าบริษัท 50 อันดับที่เกี่ยวข้องกับ Crypto และ Blockchain ในสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน Zug) มีมูลค่ารวมได้มากถึง 6.11แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 22 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว และไม่นานมานี้เมือง Zug ยังสามารถชำระภาษี ได้ด้วย Bitcoin (BTC) และ Ethereum (ETH) อีกด้วย แค่เรื่องการเงิน หรือ FinTech ยังมีมูลค่ามหาศาลและความก้าวหน้าขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสวิตเซอร์แลนด์ถึงครองดีกรีแชมป์ดัชนีนวัตกรรมโลกมายาวนานถึง 11 ปี

ทำความรู้จัก “Zug” Crypto Valley เพิ่มเติมได้ที่นี่ > https://cryptovalley.swiss/

อ้างอิงภาพจาก :
ipu.org , rahnbodmer.ch , monetum.com , reuters.com , coindesk.com

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.youtube.com/watch?v=UfL3tuav32E
https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2115e39c306000a1c4?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870
https://www.longtunman.com/38465
https://www.pwc.ch/en/insights/regulation/swiss-dlt-new-regulations.html
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_ETH_Zurich_people
https://en.wikipedia.org/wiki/Banking_in_Switzerland#World_War_II_and_beyond
https://cryptovalley.swiss/
https://th.investing.com/news/cryptocurrency-news/article-39812
https://medium.com/tqtezos/clean-nfts-on-tezos-58566b2fdba1