สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดแนวโน้ม 5 อนาคตสุขภาพจิตคนไทย จุดพลิกผันแห่งความสุขที่ท้าทายในอีก 10 ปีข้างหน้า

11 สิงหาคม 2566 5,809

เปิดแนวโน้ม 5 อนาคตสุขภาพจิตคนไทย จุดพลิกผันแห่งความสุขที่ท้าทายในอีก 10 ปีข้างหน้า



👥 สุขภาพจิตเป็นประเด็นใกล้ตัวยิ่งขึ้น เมื่อผู้ป่วยด้าน Mental Health มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งแล้วเป็นที่เรียบร้อย 

จากการสำรวจ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 มาเป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 หากเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกก็จะพบว่า มีกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังทั้งหมด 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุที่กว่า 8 แสนคนอยู่ในภาวะความจำเสื่อม และในจำนวนนี้กว่า 90% ก็กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ต่อมาคือวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่คาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยถึง 1.5 ล้านคน แต่กลับมีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และกลุ่มสุดท้ายคือบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มงานจิตเวช ที่มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจากเดิมร้อยละ 2.7 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 12.2 ในปี 2565 

ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ช่วยบ่งบอกว่าปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยเริ่มมีปัญหา NIA จึงร่วมกับ กรมสุขภาพจิต สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) ดำเนินโครงการวิจัยหัวข้ออนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) โดยใช้ Foresight มาเป็นเครื่องมือในการมองอนาคต จากกระบวนการมองอนาคตที่ได้ทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้พัฒนามาเป็นภาพอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย 5 ภาพ ตั้งแต่ Worst Case ที่ไม่มีการแก้ปัญหา ไปจนถึง Best Case ที่ทุกภาคส่วนเข้ามาผสานความร่วมมือ จนสามารถนำพาให้ประเทศไทยไปเป็นต้นแบบด้านสุขภาพจิต และเป็นจุดมุ่งหมายในการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้

ภาพอนาคตที่ 1 “การระเบิดของความหวาดกลัว : Terror Outburst” เป็นภาพอนาคตที่สภาพสังคมสะสมความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ทับซ้อนกันเป็นเวลานานโดยปราศจากการแก้ไข จนส่งผลให้ประชาชนมีอารมณ์เชิงลบ และมีแนวโน้มแยกตัวอยู่ลำพังมากขึ้น ประกอบกับการพึ่งพาสื่อออนไลน์ในการสร้างความสุข แต่ยังพบเนื้อหาสื่อที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจึงมีการเหมารวมว่าผู้ป่วยสุขภาพจิตเป็นตัวการ จนผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธการรักษาเพียงเพราะไม่อยากถูกตีตรา บริการด้านสุขภาพจิตจึงหยุดชะงัก จนผู้คนอยากย้ายถิ่นฐานออกไปยังสถานที่ปลอดภัย และมีความสุขมากกว่า

ภาพอนาคตที่ 2 “วิกฤติที่แผงด้วยโอกาส : Opportunity in Adversity” เป็นภาพที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากภาพที่หนึ่ง เพียงแต่ยังติดปมใหญ่อย่างปัญหาเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ทุกภาคส่วนมุ่งความสนใจไปเพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จนไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการมาจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพจิต ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังขาดโอกาสพัฒนาสถานส่งเสริมแบบราคาถูกเข้าถึงง่าย ฝั่งประชาชนที่ค่อยๆ สูญเสียความเชื่อใจเลยพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ซึ่งหากไม่สำเร็จก็อาจทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าสุขภาพจิตที่ดีเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน แต่ก็ยังมีความหวังเล็กๆ ว่าวิกฤติต่างๆ จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ภาพอนาคตที่ 3 “มวลชนผู้โดดเดี่ยว : Pack of Lone Wolves” ภาพนี้เป็นการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาพื้นที่โดยรวม ช่วยให้ผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ก็ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมค่อยๆ ลดลง จนต่างคนต่างกลับมาเครียด เหงา และกดดันกับการใช้ชีวิต ประกอบกับการเสพติดคุณค่าของความสำเร็จจากสื่อที่เห็น หลายคนจึงพยายามปรับตัวให้เท่าทันกับการแข่งขัน โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พยายามขับเคลื่อนทักษะที่จำเป็นทางด้านดิจิทัล และเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาปัญหาสุขภาพจิต ผู้คนส่วนมากจึงยังโหยหาวิถีชีวิตที่สงบสุข

ภาพอนาคตที่ 4 “สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน : Decentralized Mental Well-Being” ปัจจัยสำคัญในการไปถึงภาพอนาคตนี้คือการกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์สู่ท้องถิ่นและเขตสุขภาพ ส่งผลให้สิ่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถส่งต่อเข้าถึงทุกชุมชนได้มากขึ้น จึงหนุนนำให้คนในท้องถิ่นช่วยกันลุกขึ้นมาแก้ปัญหา สร้างกติกาของแต่ละชุมชนด้วยความเข้าใจ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพจิตอย่างง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จนเกิดความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้คนส่วนใหญ่รู้สึกอยากกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่เชื่อมโยงกันด้วยความผูกพัน และเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน

สุดท้ายคือ ภาพอนาคตที่ 5 “จุดหมายแห่งความสุข : Land of Smiling Minds” ที่จะเห็นว่าทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตมากมาเป็นลำดับต้นๆ ทุกคนมีความเข้าใจพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีพื้นที่ในสังคม สร้างระบบดูแลที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ไปจนถึงการรักษาฟื้นฟู ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะภาครัฐมีการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญกับทรัพยากรโดยเฉพาะในแง่บุคลากร งบประมาณ ที่สอดคล้องกับปัญหา เช่น  การจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิต การเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตในหลายระดับ ทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก และผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยเน้นการกระจายตัวของบุคลากรไปยังส่วนภูมิภาคเพื่อให้เข้าถึงผู้คนในทุกพื้นที่

เพราะ ‘สุขภาพจิต’ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบมากกว่าแค่กับคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การพัฒนาชุมชน หรือบทบาทหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งสุขภาพจิตที่ดีจะเป็นเหมือนรากฐานเพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถรับผิดชอบหน้าที่ต่อสังคม และเมื่อมีการมองอนาคตจึงยิ่งช่วยให้เราเห็นเป้าหมายปลายทางในแง่มุมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย หรือทิศทางการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือด้วยกันจากทุกฝ่าย

อ้างอิงข้อมูลจาก : งานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)
https://www.nia.or.th/bookshelf/view/237