สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
กิจกรรมรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก เพื่อหาแนวทางการทำงานในการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมกับเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ระยอง ซิตี้ เซ็นเตอร์ จ.ระยอง สำนักงานฯได้จัดกิจกรรม “รับฟังความคิดเห็นเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก เพื่อหาแนวทางการทำงานในการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมกับเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ “กิจกรรมการเดินทางไปปฏิบัติงานของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานในการสนับสนุนนวัตกรรมระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายภาคตะวันออกของของสำนักงาน” ตั้งแต่วันที่ 14 – 16 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยในกิจกรรม “รับฟังความคิดเห็นเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก เพื่อหาแนวทางการทำงานในการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมกับเครือข่ายของสำนักงานในภาคตะวันออก” สำนักงานได้เชิญผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนดังนี้
ตัวแทนภาคเอกชน
ตัวแทนมหาวิทยาลัยในพื้นที่
ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ
โดยได้ผลจากเครือข่ายนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมนวัตกรรมในภาคตะวันออก ดังนี้
1. ปัญหาด้านการกัดเซาะชายฝั่ง
ปัจจุบันจังหวัดระยอง กำลังมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งมาบตาพุด เฟส 3 เกิดขึ้น ซึ่งยังคงประสบปัญหาเรื่องการกัดเซาะของชายฝั่งอยู่อย่างต่อเนื่อง เราจัดการด้วยการถมพื้นที่ แต่ยังไม่มีวิธีการจัดการอย่างยั่งยืนหรือมีนวัตกรรมมาแก้ปัญหานี้ได้
2. ปัญหาด้านขยะ
การจัดการขยะในจังหวัดระยอง มีระบบการจัดการของจังหวัด แต่ปัญหาจำนวนและลักษณะของขยะในจังหวัดมีลักษณะมาตามฤดูกาล ทำให้การจัดการขยะเป็นไปได้ยาก ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากมีนวัตกรรมการจัดการขยะแต่ละประเภทก็จะทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นในปัจจุบัน
3. ปัญหาด้านกลิ่นยางพารา
พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดระยองมีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเก็บเกี่ยวน้ำยางพาราในพื้นที่ ส่งผลกระทบด้านกลิ่นเหม็นของน้ำยาง กับธุรกิจการท่องเที่ยว และชุมชนบางแห่ง ในพื้นที่ระยอง จึงอยากได้แนวทางหรือนวัตกรรมการแก้ปัญหา ที่จะลดผลกระทบต่อธุรกิจและชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง
4. ธุรกิจ SME เริ่มถดถอย
ด้วยการขยายฐานการผลิตจากต่างประเทศ (จีน ญี่ปุ่น) เข้ามาในประเทศไทย อาจทำให้ธุรกิจระดับ SME ของไทยกำลังเข้าสู่การแข่งขันที่สูงขึ้น และเริ่มถดถอย มีธุรกิจหลายอย่างที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในปัจจุบัน จึงอยากให้ สนช.เข้ามาเป็นกลไกในการพัฒนาธุรกิจ SME ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
5. แรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำงานได้
ด้วยนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในปัจจุบันไม่สามารถเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้เท่าที่ควร ด้วยการจำกัดเรื่องมาตรฐานวิชาชีพและระดับฝีมือแรงงานยังไม่เพียงพอในปัจจุบัน อว. เริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้มีสัดส่วนที่คนทั่วไปสามารถมาพัฒนาตัวเองผ่านการ upskills / reskills ได้ โดยให้เป็นหลักสูตรแบบปริญญา 75% และ Upskills reskills 25% มหาวิทยาลัยบูรพา เริ่มมีการสร้างหลักสูตรระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์นักเรียนอาชีวศึกษา ที่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นหลักสูตรที่เป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และกำลังขยายไปสู่วิทยาลัยต่างๆในพื้นที่ EEC ในอนาคต
6. การใช้เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลระยอง ด้วยปัจจุบันแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีการใช้เครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ ที่ต้องมีการนำเข้า
มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อยากส่งเสริมให้ สนช.เป็นตัวกลางในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่สามารถผลิตในประเทศไทยได้เองและนำมาใช้ภายในประเทศ
7. การสร้างนวัตกรรมให้กับพื้นที่
แนวทางการสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ ควรมีองค์ประกอบ 4 ส่วนสำคัญ ที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาและสร้างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของสำนักงาน
1. การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ : สำนักงานมีแนวทางประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ ความสามารถ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังทำให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดียิ่งขึ้น
2. ส่งเสริมศักยภาพ SME การเข้าถึงตลาดการค้านวัตกรรม : สำนักงานมีแนวทางเพื่อพัฒนา SME ตามภูมิภาคทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการด้านดำเนินธุรกิจและมีความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น และยังส่งเสริมและแสวงหาแนวทางในการเข้าสู้ตลาดสินค้านวัตกรรม ทั้งนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ SME เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง
3. พัฒนาศักยภาพกำลังคนฝ่ายเยาวชนในพื้นที่ : สำนักงานมีแนวทางพัฒนาศักยภาพกำลังคนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมให้เยาวชนทั้งการศึกษาภาคสามัญและอาชีวะ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมและพัฒนาความคิดเชิงระบบให้กับเยาวชน