สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
อีลอน มักส์ ผู้อยู่เบื้องหลังภาระกิจเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ความยั่งยืน
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้โลกเรามีเรื่องให้ต้องร้อง “ว้าว!” มากมาย อย่างโครงการ สเปซ เอ็กซ์ (SpaceX) ที่ทำให้เรื่องการเยือนอวกาศกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวจับต้องได้ง่ายแบบที่มนุษย์ทั่วไปก็สามารถพิชิตได้ หรือแม้แต่โครงการ ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ที่สร้างการเดินทางและขนส่งระบบท่อให้ไวกว่าเครื่องบิน แต่ประหยัดพลังงานและไม่ก่อมลพิษ หลายคนรู้กันดีว่าสองโปรเจกต์ยักษ์ความหวังใหม่ของโลกนี้มีผู้ที่อยู่เบื้องหลังคนเดียวกันนั่นคือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หนึ่งในนักสร้างนวัตกรรมที่ทั่วโลกรู้จักกันดี แต่การเปลี่ยนแปลงโลกเหล่านี้อาจไม่ถูกชื่นชมเท่าอนาคตของเขาที่เกิดขึ้นจริงแล้วอย่าง เทสลา (Tesla) องค์กรที่ใส่ใจพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างมุ่งมั่น และมีเป้าหมายใหญ่ในการร่วมเปลี่ยนโลก ชักชวนทุกคนให้หันมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานฟอสซิลซึ่งกำลังเป็นตัวการใหญ่ในการทำร้ายโลกอยู่ในขณะนี้
อีลอน มัสก์ เป็นคนที่ตั้งเป้าหมายแล้วมักจะทำให้สำเร็จได้เสมอ
อีลอน มัสก์ เป็นคนที่ตั้งเป้าหมายแล้วมักจะทำให้สำเร็จได้เสมอ หลังจากที่ก่อตั้ง เทสลา มอเตอร์ (Tesla Motors, Inc.) ขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เขามุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังจนทำให้สามารถออกมาวิ่งได้จริงในระยะเวลาไม่กี่ปี และเทสลา ก็ก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านยนตรกรรมของโลกในเวลาอันรวดเร็ว รถยนต์โมเดลแรกของเทสลาคือ เทสลา โรดส์เตอร์ (Tesla Roadster) รถสปอร์ตสุดหรูที่วิ่งด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันรถรุ่นนี้ยกเลิกการผลิตไปแล้ว เพราะเขาต้องการที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ที่ให้คนทั่วไปใช้ได้ และนั่นก็เป็นที่มาของโมเดลที่สร้างชื่อและดังเปรี้ยงอย่าง เทสลา โมเดล เอส (Tesla Model S) ที่ยังคงถูกพัฒนาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่เทสลา โมเดล เอส ก็สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 400 กม./ชม. ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นประสิทธิภาพที่ดีไม่แพ้การใช้พลังงานฟอสซิลเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าปัจจุบันรถยนต์รุ่นนี้ราคาจะยังคงสูงลิ่วและมียอดจองยาวเหยียดจนต้องต่อแถวรอรับรถยนต์ที่จะผลิตเสร็จในปี ค.ศ. 2020 เลยทีเดียว แต่เป้าหมายระยะยาวที่แท้จริงของ อีลอน มัสก์ คือการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ราคาถูกลง เพื่อให้คนหันมาใช้กันมากขึ้น รวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ให้สนใจและหันมาพัฒนาและแข่งขันด้วยนวัตกรรมในตลาดนี้แทน
ความสำเร็จของเทสลา (Tesla)
การที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จได้นั้นไม่ใช่แค่ว่าจะพัฒนาเพียงตัวรถยนต์แล้วจบตรงนั้น แผนพัฒนาที่ทำพร้อมกันไปก็คือการพัฒนาสถานีพลังงานตลอดจนแหล่งพลังงานสนับสนุนควบคู่กันไป เพื่อเป็นการรองรับทั้งระบบและให้ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าเกิดความสะดวกด้วย เทสลาจึงเริ่มพัฒนา เทสลา ซูเปอร์ชาร์จ (Tesla Supercharger) สถานีเติมพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับรถยนต์ของเทสลาและเจ้าอื่น ๆ ในอนาคต ทั้งยังสร้างเครือข่ายขยายให้กระจายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในอนาคตด้วย อีกด้านหนึ่ง อีลอน มัสก์ ก็ร่วมก่อตั้ง โซลาซิตี้ คอร์เปอเรชัน (SolarCity Corporation) ขึ้นในปี ค.ศ 2006 เพื่อทำธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จำหน่าย จนในปี ค.ศ. 2016 เทสลาก็ซื้อบริษัทดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับเทสลาไว้รองรับผู้บริโภคในอเมริกาและแคนาดา
ความต้องการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพัฒนาระบบรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลานั้นเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากที่เทสลาจะมีโชว์รูมกระจายอยู่ทั่วโลกแล้ว ยักษ์ใหญ่รายนี้ก็กำลังมองหาฐานการผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดโลกให้มากขึ้นด้วย ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินว่าหนึ่งในฐานการผลิตที่เทสลาสนใจก็คือเมืองไทยของเรานี่เอง ไม่เพียงเท่านั้นเทสลา เริ่มขยับขยายการทำธุรกิจพลังงานสะอาดโดยสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จริงจังในออสเตรเลีย เพราะเป้าหมายใหญ่ของเขาไม่ใช่แค่ต้องการจะผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนให้กับเทสลาเท่านั้น แต่เขาต้องการจะทำธุรกิจพลังงานสะอาดนี้ให้สำเร็จ และเปลี่ยนอนาคตของโลกด้วยพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนต่อไป
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์รวมและสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่ายกย่องของเขา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงไอเดียส่วนหนึ่งที่อยู่ในหัวของนวัตกรผู้เปลี่ยนโลกอย่าง อีลอน มัสก์ แต่สิ่งที่หลายคนยกย่องมากกว่าแผนธุรกิจของเขา คือวิสัยทัศน์ในองค์รวมที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์รวมและสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้นได้ด้วย หนึ่งในเรื่องล่าสุดที่น่ายกย่องของเขา คือการประกาศเพื่ออนุญาตให้ทุกคนนำองค์ความรู้ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาที่เทสลาจดสิทธิบัตรไว้ไปใช้ได้ฟรี หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นความคิดที่โง่เขลาและไม่เป็นผลบวกต่อธุรกิจของเขาเอาเสียเลย แต่เขากลับมองว่าการแบ่งปันความรู้ให้ใช้กันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค ทำลายกำแพงข้อจำกัดทางความคิด ไม่ต้องเสียเวลาหรือเสียทุนมหาศาลในการค้นคว้าวิจัย เมื่อมีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปต่อยอดได้ง่ายก็จะมีคู่แข่งทางธุรกิจที่ร่วมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดด และเมื่อรถยนต์พลังงานสะอาดได้รับความนิยมในวงกว้าง ราคาก็จะถูกลงจนทุกคนสามารถเข้าถึงและยินดีที่จะเปลี่ยนรถยนต์คันเก่าให้กลายเป็นรถยนต์ที่มีคุณภาพดีขึ้นและสะอาดขึ้น รวมทั้งธุรกิจการผลิตพลังงานสะอาดก็จะได้รับผลพลอยได้ตามไปด้วย
“ย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมมักคิดถึงเรื่องอะไรคือปัญหาที่น่าจะกระทบต่ออนาคตของโลกหรือมนุษยชาติมากที่สุด ผมคิดว่าการมีคมนาคมที่ยั่งยืนมันสำคัญต่อเรามาก และการผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนจะช่วยเราได้ นั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราจะต้องทำการแก้ไขในศตวรรษนี้” นั่นคือส่วนหนึ่งของความคิดที่ อีลอน มัสก์ เคยพูดไว้บนเวที TED เมื่อปี ค.ศ. 2013 ถึงเป้าหมายอันชัดเจนและแรงกล้าของเขา สิ่งสำคัญก็คือมันไม่ใช่แค่คำพูดที่สวยหรูเท่านั้น แต่มันถูกแปลงเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ และยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขายังคงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.businessinsider.com/elon-musks-ted-talk-on-tesla-spacex-and-solarcity-2013-3
https://www.treehugger.com/cars/elon-musk-ted-talk-2013-tesla-spacex-solarcity-and-more.html
https://news.energysage.com/solarcity-tesla-whats-latest-elon-musks-clean-energy-venture/