สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

เปิดเคล็ด(ไม่)ลับ สตาร์ทอัพ อยู่อย่างไร ให้ “รอด” ในภาวะวิกฤต

บทความ 21 พฤษภาคม 2563 4,288

เปิดเคล็ด(ไม่)ลับ สตาร์ทอัพ อยู่อย่างไร ให้ “รอด” ในภาวะวิกฤต



แม้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ลดน้อยลง จะเป็นสัญญาณที่น่าดีใจว่าเราทุกคนกำลังจะก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาอย่างเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจ” อาจกินระยะเวลายาวนานไปอีกเป็นปี Dan Rosen ประธานกลุ่มพันธมิตรการลงทุน (Alliance of Angels) ในซีแอทเทิล เจ้าพ่อด้านธุรกิจและการลงทุนที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี และผ่านวิกฤตระดับโลกมาแล้วมากมาย แนะนำว่า บริษัทไหนที่ปรับตัวได้ทันท่วงที ก็ยิ่งมีโอกาสอยู่รอดได้สูง เพราะ “ในทุกวิกฤตนั้นย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่”


ข้อพิสูจน์มีให้เห็นมาแล้ว ยกตัวอย่างบริษัทระดับโลกชื่อคุ้นหูมากมายที่เคยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถเอาชนะและก้าวผ่านสถานการณ์สาหัสมาได้ เช่น e-Commerce ชื่อดังจากประเทศจีนอย่าง Alibaba ที่เป็นที่นิยมในช่วงที่ SARS แพร่ระบาด Amazon.com ที่ผันตัวเองจากเว็บไซต์ขายหนังสือและปรับเป็นเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์เต็มตัว ในช่วงวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม หรือ Spotify สตาร์ทอัพที่เปิดตลาดสตรีมมิ่งเพลงในยุควิกฤตทางการเงินปี 2008 หรือ Hamburger Crisis


เมื่อเกิดช่วงเวลาวิกฤตขึ้น บริษัทสตาร์ทอัพควรต้องปรับตัวอย่างไร วันนี้ NIA ได้รวบรวมเคล็ด(ไม่)ลับที่สตาร์ทอัพต้องรู้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาแนะนำให้ไปปรับใช้กัน

บริหารงานให้มี “เงินสด” อยู่เสมอ

ปัญหาใหญ่ของสตาร์ทอัพไม่ได้ล้มตายเพราะขาดไอเดียการทำธุรกิจ แต่เกิดจากการบริหารการเงินที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ที่ทุกบริษัทแทบจะมีรายได้ติดลบ และแม้ว่าการเจรจาและสัญญาธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นแบบสินเชื่อการค้า (Credit Term) ที่มีระยะเวลาในการกำหนดชำระในภายหลัง แต่ต้องอย่าลืมว่ายังมีรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้ “เงินสด” ในทุกเดือน เช่น ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าการบำรุงรักษาเทคโนโลยี (Maintenance) ฯลฯ ดังนั้น บริษัทสตาร์ทอัพต้องวางแผนรักษาเงินสดแบบเร่งด่วนทันที และควรมีเงินสดสำรองเพียงพออย่างน้อย 12 - 18  เดือน เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกินระยะเวลา แม้วิกฤตการณ์จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม

รัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุน

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต มักทำให้ข้อตกลงด้านธุรกิจที่เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับบริษัท ล่าช้าไปอย่างน้อย 6 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น และหากสินค้าหรือบริการของบริษัทไม่ได้ตอบโจทย์กับสถานการณ์วิกฤต บริษัทต้องจัดการกับงบประมาณให้สอดคล้องความเป็นจริงให้มากที่สุด ทำให้ต้นทุนลดลงเหลือเท่าที่จำเป็น เช่น พักการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่จะไม่ถูกใช้งานและเป็นรายจ่ายในช่วงนั้นทันที ย้ายงบการตลาดมาอยู่บนช่องทางที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย เช่น โซเชียลมีเดีย รวมถึงมาตรการที่อาจต้องหนักใจไปบ้างแต่สำคัญสำหรับการอยู่รอดอย่างการลดเงินเดือน หรือการลดจำนวนพนักงาน

ไม่หยุดมองหาโอกาสใหม่

ความต้องการผู้บริโภคใหม่ๆ เกิดขึ้นเพราะวิกฤตเสมอ ให้คุณลองถอยตัวเองออกจากกรอบความคิดเดิมๆ และมองหาลู่ทางในการขยับปรับเปลี่ยนธุรกิจบางส่วนให้เหมาะกับสถานการณ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากวิกฤต COVID-19 มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth) ที่เข้ามาทดแทน แพลตฟอร์มการเรียนการสอนที่ย้ายไปอยู่บนออนไลน์ หรือบางสตาร์ทอัพถึงขนาดเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ เช่น Isinnova สตาร์ทอัพสัญชาติอิตาเลียน ผู้ให้บริการ 3D-printing สำหรับงานออกแบบ ที่กระโดดเข้ามาผลิตเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ช่วยหายใจทางการแพทย์จากนวัตกรรม 3D-printing ของตัวเอง

มองหาแหล่งระดมทุนที่จำเป็น

มีสตาร์ทอัพเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยใช้เงินทุนของตนเองเพียงอย่างเดียว และในช่วงที่เกิดวิกฤตขึ้น ให้คำนึงเสมอว่าพาร์ทเนอร์ด้านธุรกิจ คู่ค้า และกลุ่มนักลงทุนเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีสภาพคล่องของเงินลงทุนที่ลดลง หรืออาจร้ายแรงถึงขนาดถูกถอนการลงทุน ซึ่งข้อแนะนำที่จะช่วยเสริมรอยรั่วตรงนี้ได้คือ ให้ลองมองหาแหล่งเงินสดอื่นๆ เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล โครงการที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพ ฯลฯ หรืออาจลองย้อนกลับไปมองหาเวทีประกวดสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อคว้าเงินลงทุนใหม่อีกครั้ง แม้บริษัทจะผ่านเฟสนั้นมาแล้วก็ตาม รวมถึงในช่วงที่พาร์ทเนอร์ยังมีความวิตกกังวลด้านเศรษฐกิจ บริษัทอาจต้องปรับเปลี่ยนสัญญาเป็นแบบระยะสั้น แทนการทำสัญญาระยะยาว 


ซึ่ง NIA พร้อมให้การช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านการสนับสนุนทางการเงิน การส่งเสริมการตลาด พัฒนาเครือข่าย รวมถึงการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถก้าวต่อไปได้ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/NIAThailand/posts/2882016805168960 

เตรียมพร้อมให้หนักเป็นเท่าตัว

ช่วงวิกฤตที่พาเอาธุรกิจสะดุด อาจทำให้หลายคนรู้สึกเนือยจนแทบไม่อยากทำอะไร แต่สำหรับสตาร์ทอัพ ช่วงเวลาเช่นนี้ยิ่งต้องเตรียมพร้อมให้หนักเป็นสองเท่า โดยเฉพาะเรื่องที่อาจไม่มีโอกาสได้ทำมากนักในช่วงสถานการณ์ปกติ เช่น ลงเรียนคอร์สออนไลน์เสริมทักษะติดตัวเพิ่มเติม หาเวลากางงบการเงินและวางแผนการตลาด ปรับปรุงแอปพลิเคชันและแก้ไขบัคต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ทันที เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ และที่สำคัญคือต้องคอยอัปเดตสถานการณ์วิกฤตและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่เปลี่ยนไปแบบวันต่อวัน และมองหาโอกาสที่ทำให้ธุรกิจของเรากลับมาเดินต่อได้โดยเร็วที่สุด


https://tcasandiego.com/how-startups-survive-the-covid-19-economic-crisis/ 

https://www.techinasia.com/5-takeaways-startups-survive-2020 

https://theconversation.com/a-survival-guide-for-startups-during-the-coronavirus-pandemic-136560