สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

CityVerve การพัฒนาเมือง Manchester สู่ City Innovation

บทความ 13 มิถุนายน 2562 2,931

CityVerve การพัฒนาเมือง Manchester สู่ City Innovation


เมื่อพูดคำว่า “Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” หลายคนคงนึกถึงรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตัลหรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการชุมชน และแน่นอนว่าเทคโนโลยีดิจิตัลเหล่านั้นต้องช่วยลดต้นทุนและลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย หากวันพรุ่งนี้ได้ลืมตาขึ้นมาเห็นเมืองที่เราอาศัยอยู่ถูกพัฒนาให้บริหารจัดการด้วยระบบในรูปแบบดังกล่าวจะดีสักแค่ไหนกัน


‘Manchester’ เมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของสหราชอาณาจักร ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมนั้นได้ก้าวขาออกมาแล้ว ปัจจุบันตัวเมืองถูกปฏิรูปพลิกโฉมให้เป็นมหานครร่วมสมัย ทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี ตลอดจนสนามกีฬาระดับโลกของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ได้สร้างแพลทฟอร์มภายใต้ชื่อ ‘CityVerve’ เพื่อทำให้เมืองก้าวสู่ Manchester Smart City แพลทฟอร์ม ‘CityVerve’ นี้เป็นแพลทฟอร์มที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของเมือง ไว้ให้บริการกับนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองแมนเชสเตอร์ 

Partner สำคัญของ CityVerve


CityVerve มีพาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกันกว่า 21 ราย โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Inovative U.K. และกระทรวงวัฒนธรรมสื่อและกีฬาของอังกฤษ หนึ่งในพาร์ทเนอร์สำคัญของ CityVerve คือ ‘Retail Sensing’ ที่จะเป็นผู้ให้บริการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ปัจจุบันกำลังปรับใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับผู้คนที่สัญจรไปมา และการจราจรของรถยนต์ตามแนวถนน Oxford เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความหนาแน่นและทิศทางการไหลของจราจร เพื่อนำไปสร้างเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีไว้ใช้จัดการปัญหาในอนาคต 


‘Tracsis’ พาร์ทเนอร์อีกรายจะเป็นผู้ให้บริการด้านการสำรวจข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันกำลังติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจจับผู้คนที่สัญจรไปมาบริเวณจัตุรัสอัลเบิร์ต และสถานีรถไฟในเมืองอีก 4 ที่คือ Oxford Road, Deansgate, Piccadilly และ Victoria โดยข้อมูลที่ได้มานั้นสามารถใช้สนับสนุนการวางแผนต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตได้ และช่วยเพิ่มความเข้าใจรูปแบบการสัญจรของประชาชนในแถบนั้นมากยิ่งขึ้น 


และ ‘Apadmi’ พาร์ทเนอร์รายสุดท้ายที่เราจะกล่าวถึง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีมือถือจากแมนเชสเตอร์ ช่วยออกแบบแอปพลิเคชันด้านการสื่อสาร เพื่อให้หน่วยงานแจ้งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชนได้ ซึ่งจะมีการทดสอบโดยพนักงานของเมืองแมนเชสเตอร์ที่ทำงานอยู่ในใจกลางเมือง เพื่อตรวจสอบดูว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้แค่ไหน ทั้งนี้เป้าหมายของแอปพลิเคชันดังกล่าวคือการทดสอบว่า โทรศัพท์มือถือสามารถสื่อสารกับพลเมืองได้อย่างไร ซึ่งนั่นทำให้พวกเขามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่มากขึ้นได้ เพราะการรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักอันก่อให้เกิดการรับรู้ปัญหาเพื่อสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขได้ทันท่วงที

CityVerve กับ Big Data

กล่าวโดยสรุปคือ ‘CityVerve’ เป็น Big Data แพลทฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงระบบที่ใช้เก็บข้อมูลส่วนต่าง ๆ ภายในเมือง ในอนาคตแพลทฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการ นักพัฒนา และบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในการสร้างแอปพลิเคชันและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้เมืองมีความอัจฉริยะในการตอบสนองการใช้ชีวิตภายในเมืองของประชาชนมากยิ่งขึ้น

.

แหล่งอ้างอิง 


https://th.wikipedia.org/wiki/สมาร์ตซิตี 

https://www.theeleader.com/iot/manchester-smart-city-detected-data-for-investor/