สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Blockchain in Your Area มากกว่าแค่ FinTech แต่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เข้าใกล้วิถีชีวิตเรามากขึ้น

21 กรกฎาคม 2566 930

Blockchain in Your Area มากกว่าแค่ FinTech แต่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เข้าใกล้วิถีชีวิตเรามากขึ้น


หากให้เล่าเรื่องของ “บล็อกเชน” เชื่อว่าหลายคนคงจะพอเดาออกกันแล้วว่าเนื้อความประเด็นต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ไม่ว่าจะเป็น...เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยแบบกระจายศูนย์กลาง หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกใช้ในการพัฒนาสกุลเงินทางดิจิทัลที่ใครต่อใครก็คงรู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้ง Bitcoin Ethereum หรือ Solana โดยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา บล็อกเชนโดดเด่นเป็นอย่างมากเกี่ยวกับธุรกรรมด้านการเงิน จนหลายคนเริ่มติดภาพการใช้งานแค่ในมิติของ FinTech เท่านั้น

แต่ Don Tapscott (ดอน แทพส์กอตท์) ผู้เขียนหนังสือ Blockchain Revolution เคยกล่าวไว้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น มีศักยภาพมากพอที่จะพลิกโฉมโลกการเงิน ธุรกิจ สังคม และรัฐบาลในเวลาไม่ถึงสองสามทศวรรษ จวบจนปัจจุบัน เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายอย่าง จึงอยากพาทุกคนเข้าไปสำรวจเครือข่ายระบบกระจายศูนย์กลางนี้กันว่าได้มีการนำบล็อกเชนมาต่อยอดไปใช้งานด้านอื่นๆ ถึงไหนกันแล้วบ้าง

เริ่มจากอาชีพที่เราพบเห็นได้ทั่วโลกอย่างเกษตรกร ที่บล็อกเชนได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสินค้าหลังการเก็บเกี่ยวในรูปแบบของระบบติดตามผลผลิต เพื่อใช้ตรวจสอบว่าสินค้าที่ส่งออกไปนี้ ถูกนำเก็บเข้าคลังอย่างปลอดภัย หรือจัดส่งถึงมือของผู้บริโภคได้ทันเวลาหรือไม่ ยิ่งในบางกรณีที่ผลผลิตเสียหายจากความล่าช้า เกษตรกรก็สามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบเพื่อใช้ป้องกันตัวเอง ที่สำคัญคือยังช่วยให้เกิดการแก้เกมจากการโดนกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง เพราะข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นสามารถนำมาตรวจสอบได้ว่าราคาที่เกษตรกรได้รับมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งก็อาจช่วยให้เกษตรกรมีกำไรที่เพิ่มขึ้นได้กว่าเดิม

ในภาพของการทำธุรกิจที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในเวลานี้ คือการติดตามห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแบ่งออกมาได้ 2 แง่มุมหลักๆ คือมุมของผู้บริโภค ที่จะสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือและที่มาของสินค้าได้อย่างโปร่งใส เช่น ในกาแฟหนึ่งแก้ว ผู้บริโภคสามารถติดตามย้อนกลับไปได้ถึงต้นทางก่อนจะมาอยู่ในแก้วที่เราได้ดื่มกัน ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก เจ้าของไร่ รูปแบบการคั่ว รวมไปถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจข้อมูลด้วยตัวเองเลยว่าสินค้าที่อยู่ในมือนี้เป็นของแท้หรือไม่ 

กลับกันในแง่ของเจ้าของกิจการ การใช้บล็อกเชนนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มคุณค่าของสินค้า ซึ่งสอดคล้องไปกับประเด็นด้านบนที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเส้นทางการผลิต เพราะจากทิศทางการตลาดในยุคนี้จะเห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีความยั่งยืน ทั้งในส่วนการใช้แรงงานที่เป็นธรรม การไม่ทดลองกับสัตว์ หรือใช้เพื่อยืนยันกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเจ้าของกิจการสามารถพิสูจน์ได้ถึงที่มาของสินค้าว่ามีความใส่ใจต่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง ผู้บริโภคก็ยอมที่จะเลือกซื้อแม้มีราคาสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่ง

ในภาพการใช้งานอีกด้านที่ทั่วโลกเริ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการให้บริการโดยภาครัฐ ซึ่งใช้จุดแข็งจากระบบที่มีความปลอดภัยของบล็อกเชนมาต่อยอดเป็นบริการที่น่าเชื่อถือ เช่น การยืนยันตัวตน การเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐ ซึ่งหากเป็นระบบที่มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ศูนย์กลาง อาจพบความเสี่ยงในการโจรกรรมข้อมูลหรือใช้เพื่อแอบอ้างกระทำความผิดอื่นๆ แต่หากเป็นบล็อกเชนแล้ว จะสามารถนำมาช่วยป้องกันการปลอมแปลงหรือแก้ไขได้อย่างรัดกุม

และล่าสุดจากกรณีตัวอย่างในประเทศไทย อย่างแพลตฟอร์ม D-Vote สำนักโพลบล็อกเชนแห่งแรกในประเทศไทย โดย บริษัท ดีโหวต จำกัด (D-Vote) ซึ่งเก็บข้อมูลผลการโหวตสำหรับโพลสาธารณะบนบล็อกเชน เพื่อสร้างความโปร่งใสและป้องกันการบิดเบือนของผลโหวต ประชาชนสามารถเข้าไปโหวตในประเด็นที่ถูกสร้างขึ้น เช่น แบบสำรวจความพึงพอใจจากการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ในรอบ 1 ปี ซึ่งระบบนี้จะอาศัยการยืนยันตัวตนโดยใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์กับอัลกอริทึมหลังบ้าน เพื่อประมวลผลตามหลักวิชาการ จึงมั่นใจได้ว่าผลโหวตที่ปรากฏออกมามีความแม่นยำ บอกถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาต่อไปอีกหลายอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสุขภาพ หรือแม้แต่ด้านพลังงาน ซึ่ง NIA ก็ได้ตั้งเป้าพัฒนาระบบนิเวศบล็อคเชนในไทย ร่วมกับ Crypto City Connext โดยเข้าหารือกับ Crypto Valley Venture Capital (CVVC) และ CV LAB องค์กรสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนรายใหญ่ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาย่านนวัตกรรม Web 3.0 (Web 3.0 Innovation District; W3ID) พร้อมกับจัดตั้ง Accelerator ที่ไทย รวมถึงส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนา และต่อยอดแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศ ณ เมือง Zug ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

จากทั้งหมดที่ว่ามานี้...หลายคนคงเห็นภาพแล้วว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและใช้แก้ไขปัญหาอื่นๆ อีกมหาศาล ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเอง ต่างก็เริ่มมีการปูรากฐานนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจหรือภาครัฐบาลเท่านั้น แต่ยังต้องจับตาต่อไปว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปในทิศทางไหนได้อีกบ้าง 

อ้างอิงข้อมูลจาก : 
https://www.ted.com/talks/don_tapscott_how_the_blockchain_is_changing_money_and_business 
https://www.bangkokbanksme.com/en/10start-5-digital-technology-thai-agricultural-industry 
https://www.beartai.com/news/itnews/472134 
https://aommoney.com/รู้หรือไม่-จับผิดแบรนด์เนมปลอมด้วยระบบ-blockchain-ได้แล้วนะ 
https://www.brandbuffet.in.th/2021/03/kresearch-servey-behavior-consumer-eco-product/ 
https://finearts.go.th/psdg/view/15050-Blockchain-for-Government-Services-การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับภาครัฐ-โดย-สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล--องค์การมหาชน---สพร-- 
https://www.efinancethai.com/Spinterview/SpInterviewMain.aspx?release=y&name=i_dvote
https://techsauce.co/pr-news/crypto-city-connext-nia-blockchain-seminar