สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA ร่วมกับ มทร. ศรีวิชัย จัดเต็มจุดประกายแนวคิดเร่งสร้างและต่อยอดนวัตกรรมเกษตรและอาหารจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นใต้

News 1 มีนาคม 2565 1,982

NIA ร่วมกับ มทร. ศรีวิชัย จัดเต็มจุดประกายแนวคิดเร่งสร้างและต่อยอดนวัตกรรมเกษตรและอาหารจากอัตลักษณ์ท้องถิ่นใต้


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร. ศรีวิชัย) จัดงานสัมมนา AgTech & FoodTech Innovation Forum @มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยเรื่อง “นวัตกรรมเกษตรและอาหาร...ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรภาคใต้สู่ความยั่งยืน” โดยเป็นส่วนหนึ่งในงาน “ราชมงคลศรีวิชัยแฟร์ 2565” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งในภาคใต้และทั่วประเทศจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน อาจารย์ และนักศึกษากว่า 450 คน ทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ 2565


โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์สุภาพร  ไชยรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.ศรีวิชัย กล่าวเปิดงานว่า งานสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในถึงแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่จะสามารถพัฒนาธุรกิจการเกษตรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ประกอบการจริง ที่จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะนำไปปรับใช้ทั้งการสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป


จากนั้น คุณมณฑา  ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สนช. ได้นำเสนอในหัวข้อเรื่อง “แนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมเกษตรและอาหาร...ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรภาคใต้สู่ความยั่งยืน” โดยได้นำเสนอบทบาทสำคัญของ สนช. ภายใต้ Groom Grant และ Growth ในการพัฒนานวัตกรรมเกษตรและอาหาร โดยจุดประกายแนวคิดการสร้างสตาร์ทอัพด้านเกษตรและอาหาร ที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร เพื่อช่วยให้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดแรงงาน และสร้างแนวทางตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าเกษตร ในส่งต่อให้กับการพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหารตามความต้องการของตลาดของในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ อย่างเช่นเห็ดแครงและขนุน ที่มีความต้องการอย่างสูงในการนำมาใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่ต้องนำความเชี่ยวชาญในพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเกษตรในพื้นถิ่นโดยใช้พื้นฐานจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม


ในวันที่สองของการจัดงาน มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมเกษตร โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์และแรงบันดาลใจจากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ระบบไอโอทีไปประยุกต์ใช้งานในภาคเกษตร เริ่มด้วยคุณพิสุทธิ์  ฆังคะมะโน บริษัท อัพสแคว์ จำกัด นำเสนอเรื่อง “พรรัตภูมิฟาร์ม : ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ด้วย IoT” จากปัญหาการเลี้ยงไก่ระบบปิด ถ้าเกิดไฟฟ้าดับจะเกิดความเสียหายจำนวนมากและระบบสมาร์ทฟาร์มที่ดำเนินการในปัจจุบัน ยังขาดความเข้าใจความต้องการของเกษตรที่แท้จริง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลต้นทุนที่ใช้ในการผลิต ดังนั้นจากประสบการณ์ธุรกิจการเลี้ยงไก่ของครอบครัว และองค์ความรู้ในระบบไอโอที จึงมาใช้พัฒนาฟาร์มไก่ของครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดแพลตฟอร์มระบบไอโอทีในฟาร์มไข่ไก่ ที่ทำให้เกิดการจัดการฟาร์มไข่ไก่ที่ลดต้นทุน ร่วมกับสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน โดยได้ฝากข้อคิดสำคัญของผู้ที่จะเริ่มธุรกิจคือ การเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า และมีแนวทางการแก้ไขให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด  


ต่อด้วยคุณพีรภัฒน์  วุฒิ บริษัท ฟาร์มไทยแลนด์ จำกัด นำเสนอการพัฒนาฟาร์มไทยแลนด์ : ระบบควบคุม ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอที ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา จากปัญหาด้านการเกษตรที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมาใช้ในภาคเกษตร เพื่อใช้ในการควบคุมผลผลิต ควบคุมการสั่งการ การติดตามทำเกษตรในทุกขั้นตอน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการออกแบบให้เกิดการใช้งานง่ายเหมาะกับเกษตรกรและผู้ใช้งาน นอกจากนี้ในเชิงธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนไปในช่องว่างกับลูกค้าในส่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ทำสวนในบ้าน สิ่งสำคัญพยายามมองปัญหาคือโอกาส เพื่อสร้างช่องทางการทำธุรกิจในรูปแบบต่าง รวมไปถึงต้องให้เกิดการพิสูจน์ว่าทำได้จริง ผลิตภัณฑ์และบริการจะเกิดการเปิดใจพร้อมใช้งานและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น


สำหรับวันที่สามของงานสัมมนาเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์โดยผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์เป็นธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่พัฒนาการใช้วัตถุดิบในภาคใต้ โดยคุณนัฐสุนันท์  ไชยเทพ วิสาหกิจชุมชนพีโป เจ้าของผลงาน พีโปมี้ท: ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชที่นำถั่วหรั่ง เป็นพืชตระกูลถั่วที่พบปลูกมากในภาคใต้ ที่มีโปรตีนสูงกลุ่มอะมิโนที่มีความสำคัญที่สามารถขึ้นรูปและทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ร่วมกับการใช้กระบวนการผลิต กลิ่น สี และสารเติมแต่งให้มีกลิ่น รสชาติให้คล้ายกับเนื้อสัตว์ รวมถึงสอดคล้องตามมาตรฐานฮาลาล จากนักศึกษาที่มีจากความตั้งใจในการเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการสั่งสมประสบการณ์จากเวทีการประกวดในช่วงที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย จนในปัจจุบันได้มาตั้งธุรกิจในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างผลกำไรคืนสู่ชุมชนด้วย


ปิดท้ายด้วยคุณสุขศิริ   ฤทธิเดช ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ เจ้าของผลงาน เคยนิคะ : ซอสกะปิสำเร็จรูป จากธุรกิจของครอบครัวที่ทำกะปิคุณภาพดี แต่ด้วยการจับปัญหาและความต้องการของผู้บริโภคที่ชัดเจน จึงพัฒนาจากกะปิออกจากกระปุก มาทำเป็นซอสกะปิ ให้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์โดยทั่วไป ร่วมกับพัฒนากระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ การทดสอบตลาดและเข้าถึงผู้ใช้งานที่มีทั้งในและต่างประเทศ การสร้างตราสินค้าให้เกิดความจดจำ โดยฝากข้อคิดสำคัญจาการถอดบทเรียนในการสร้างปัจจัยความสำเร็จ คือ LOPPP ได้แก่ Learn เรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย Opportunity สร้างโอกาสและวิ่งเข้าหาโอกาส Passion ทำด้วยความรักและทุ่มเท Patient มีความอดทนสูงมาก และ Place วางตำแหน่งที่ชัดเจน


สำหรับการงานสัมมนานี้นับว่าจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเรียนรู้จากประสบการณ์ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านนวัตกรรมเกษตรและอาหาร ร่วมกับการนำแนวโน้มด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันและอนาคต เพื่อจุดประกายการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรและอาหาร รวมถึงการนำไปต่อยอดร่วมมือในการใช้งานนวัตกรรมเกษตรและอาหารร่วมกันต่อไป


สำหรับท่านใดที่พลาดงานสัมมนาดีๆ ที่จะร่วมจุดพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมเกษตรและอาหารให้กับทุกคน สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ Facebook : PR คณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.ศรีวิชัย


#NIA #RUTS #ราชมงคลศรีวิชัยแฟร์2565 #AgTech #FoodTech #นวัตกรรมเกษตรและอาหาร #อัพสแคว์ #ฟาร์มไทยแลนด์ #พีโปมี้ท #เคยนิคะ