สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA และเครือข่ายพันธมิตร เปิดเวทีโชว์ศักยภาพสตาร์ทอัพเกษตรไทยจากโครงการ AGROWTH หนุนการใช้ดีพเทคแก้ปัญหาภาคเกษตรเพื่อสร้างโอกาสเติบโตในตลาดอาเซียน

News 28 พฤศจิกายน 2567 670

NIA และเครือข่ายพันธมิตร เปิดเวทีโชว์ศักยภาพสตาร์ทอัพเกษตรไทยจากโครงการ AGROWTH หนุนการใช้ดีพเทคแก้ปัญหาภาคเกษตรเพื่อสร้างโอกาสเติบโตในตลาดอาเซียน


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเครือข่าย จัดกิจกรรม AGROWTH 2024 Demo Day สำหรับโครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา 

ภายในงานเป็นการนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัพดีพเทคสายเกษตรในโครงการทั้ง 10 ทีม ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 6 เดือน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนการให้คำแนะนำ (Mentoring) จากที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ได้จับคู่และทดสอบการใช้งานจริงร่วมกับองค์กรธุรกิจเกษตรชั้นนำระดับประเทศ โดยมี ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

ดร.กริชผกา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกนำไปแก้ไขปัญหาทางการเกษตรที่มีความท้าทาย อาทิ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การขาดแคลนแรงงาน รายได้ของเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจน สนับสนุนให้สตาร์ทอัพมีโอกาสต่อยอดธุรกิจร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และเงินลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับผลความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา 2 ครั้ง (ปี 2020 และ 2022) ได้สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 17 บริษัท มีหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าสนับสนุนโครงการ ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยงาน และสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่ผ่านเข้าร่วมโครงการ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ หรือเงินลงทุนจากภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่ารวม 139 ล้านบาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สตาร์ทอัพเกษตรทั้ง 10 ราย จะได้รับการลงทุนจากทั้ง VC และ CVC ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวแสดงความยินดี มอบรางวัลและใบประกาศนียบัตรแก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

สำหรับคณะกรรมการที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินและให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพ ได้แก่ 
1. คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร 
2. คุณจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อํานวยการสํานักพัฒนา SME และ Startup ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 
3. คุณนฤศันส์ ธันวารชร CEO & Head of Investment InnoSpace Thailand Co., Ltd. 
4. คุณหทัยกานต์ กมลศิริสกุล Head of Strategy, Sustainability & Innovation, Head of New Business Group & Chief of Staff Thai Wah PCL 
5. คุณนันทภรณ์ อังศุกุลธร Managing Director KasetInno Co., Ltd. 
6. คุณสิรพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการนำเสนอผลงานบนเวทีของสตาร์อัพทั้ง 10 ทีม ได้มีการรวบรวมคะแนนตลอดระยะเวลาโครงการและตัดสินจากคณะกรรมการ โดยสรุปผลรางวัลตัดสินมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. รางวัล Best Performance ได้แก่ “ทีม Aqua Conquest”  บริษัท อะควา คองเควซต์ จำกัด ได้พัฒนา“MaxBoost” สารเสริมอาหารกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียรเพื่อป้องกันการเกิดโรคกุ้ง (โรคแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และโรคขี้ขาว) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดการเกิดโรคสำคัญในกุ้ง หยุดการใช้ยาปฏิชีวนะลดการใช้สารเคมีอันตรายปลอดภัยต่อตัวกุ้ง สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค

2. รางวัล 1st Runner-Up และรางวัล Popular Vote ได้แก่ “ทีม GATI” บริษัท กรีน อะโกร เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แก้ปัญหาสำคัญในการเลี้ยงสุกรด้วยการพัฒนาระบบตรวจจับโรคและบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี loT และ AI ที่สามารถวิเคราะห์เสียงไอของสุกรทำให้รู้ได้ว่าสุกรเจ็บป่วยระดับใดและเกิดขึ้นในคอกใด แสดงผลและแจ้งเตือนแบบ Real Time ไปยังเกษตรกร พร้อมระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในฟาร์มอย่างอัตโนมัติ

3. รางวัล 2nd Runner-Up ได้แก่ “ทีม Durian AI” บริษัท กัสโต้ เทคโนโลยี จำกัด ยกระดับควบคุมคุณภาพทุเรียนด้วยเครื่องคัดแยกเกรดทุเรียนแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยี AI และภาพถ่าย 3 มิติ ที่ช่วยคัดแยกทุเรียนแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทั้งขนาดและรูปทรง พร้อมมีระบบบันทึกข้อมูลเวลา วันที่ และข้อมูลสวนของทุเรียน

และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Networking ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุน หน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพได้ต่อยอดธุรกิจพูดคุยกันแบบ 1:1 เพื่อร่วมสร้างโอกาสและความร่วมมือกันต่อไป

ทั้งนี้ หากมีเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นักลงทุน หรือหน่วยงานใด ที่สนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั้ง 10 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิรพัฒน์ ชนะกุล โทรศัพท์ : 02-017 5555 ต่อ 543 มือถือ : 091-541 5542 อีเมล : [email protected]

สำหรับท่านใดที่สนใจโครงการดีๆ แบบนี้ และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งกับเรา สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการจะเริ่มเปิดรับสมัครช่วงต้นปี 2568 ติดตามรายละเอียดได้ที่สื่อประชาสัมพันธ์ของ NIA และเครือข่ายพันธมิตรของโครงการทุกช่องทาง

#NIA #Innovation #AGROWTH2024 #DemoDay #AgTechAccelerator2024 #AgTechStartup #DeepTech #Demoday #AgriculturalTransformation #สตาร์ทอัพเกษตร #เทคโนโลยีเชิงลึก #นวัตกรรมเกษตร