สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

Yo! และนี่คือเสียงของเด็กรักษ์ (โลก) ฟังความคิด ‘เยาวชน’ ผู้เปี่ยมด้วยความฝัน สร้างธุรกิจความยั่งยืนเพื่อโลกเพื่อเรา

24 มีนาคม 2566 2,412

Yo! และนี่คือเสียงของเด็กรักษ์ (โลก) ฟังความคิด ‘เยาวชน’ ผู้เปี่ยมด้วยความฝัน สร้างธุรกิจความยั่งยืนเพื่อโลกเพื่อเรา

👍 ‘เด็กสมัยนี้’ หนึ่งในวลีที่ใช้ได้กับหลากหลายบริบท
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในนั้น คือการใช้เพื่อชื่นชมกับความเก่งของพวกเขา

ว่ากันว่าตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยรุ่น เป็นช่วงอายุที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ มีอิสระทางความคิด กล้าลองผิดลองถูก และพร้อมศึกษาในสิ่งที่อยากเรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของการเป็น ‘นวัตกร’ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบางสิ่งบางอย่าง และในทุกวันนี้ก็มีผู้ประกอบการมากมายที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จให้เห็นตั้งแต่อายุยังไม่มาก และยังสามารถพัฒนานวัตกรรมให้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่า จนทำให้พวกเขาโดดเด่นขึ้นมาด้วยพลังของตัวเอง

และมากกว่าการได้ทำอะไรตามความฝัน คือการได้ทำประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเราได้มองเห็นพลังของวัยเยาว์ที่หวงแหนความยั่งยืนของธรรมชาติ จนทำให้พวกเขาสนใจธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความท้าทายแบบที่ธุรกิจขนาดใหญ่เองยังรับมือได้ลำบาก เพราะจะต้องมีทั้งการบริหารต้นทุนและทรัพยากรจำนวนมาก ครั้งนี้ NIA จึงอยากชวนมาทำความรู้จักน้องๆ ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ที่น่าสนใจ ซึ่งพวกเขาล้วนมองเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ จนสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจและไฟแห่งวัยรุ่นรักษ์โลกไปให้คนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่อย่างเราได้เห็นกัน

“ฉันอยากจะใช้วิทยาศาสตร์มาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น” - Alexia Akbay Founder ของ Symbrosia

อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นรองจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือ ‘ก๊าซมีเทน’ ที่ส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายทางชีวภาพ และถูกปล่อยออกมาจากระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเฉพาะในวัวที่เป็นสัตว์ 4 กระเพาะ ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนออกมาได้มากถึง 600 ลิตรผ่านการตดและเรอออกตลอดวัน ที่หนักไปกว่านั้นคือก๊าซมีเทนสามารถทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

และนั่นได้กลายมาเป็นโจทย์ให้กับเด็กสาวคนหนึ่งที่เคยฝันไว้ว่า จะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ ‘Alexia Akbay’ (อเล็กเซีย อัคเบย์) จึงได้เริ่มทำการวิจัยและทดลองโดยใช้ Asparagopsis taxiformis หรือสาหร่ายทะเลสีแดงเข้าไปผสมกับอาหารสัตว์ ซึ่งหลังจากศึกษาดูก็พบว่าวิธีนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากขับถ่ายของสัตว์เคี้ยวเอื้องได้มากกว่า 90% แล้วต่อมาจึงได้สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า SeaGraze ไปพร้อมๆ กับการจัดตั้งสตาร์ทอัพ Symbrosia ของตัวเอง เพื่อเร่งขยายพันธุ์สาหร่ายและศึกษาวิธีเพาะพันธุ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันธุรกิจสามารถสร้างความสนใจจากนักลงทุนจนระดมเงินไปได้กว่า 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นการการันตีว่าผลงานนี้กำลังจะเป็นที่ต้องการ และไม่แน่ว่าอาจทำให้เกิดการพลิกโฉมของการทำปศุสัตว์ในอนาคตไปเลยก็ได้

“ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมพลาสติกเราก็อาจจะยังเป็นเด็ก แต่ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีก” - เปา มนตรี อุดมฉวี เจ้าของบริษัท Smart Bio Plastic

ชวนมองการเกษตรในประเทศไทยของเรา ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่เกษตรกรรมมากถึง 149.25 ล้านไร่ จนทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ที่มาจากการทำเกษตรกรรม อย่างเช่น ยอดอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพดอยู่อย่างมหาศาล ซึ่งเกษตรกรทั่วไปมักจะเลือกจัดการขยะเหล่านี้ด้วยวิธีที่ง่าย สะดวก และราคาถูกอย่างการเผาทิ้ง จนทำให้กลายมาเป็นปัญหาก๊าซเรือนกระจกหรือฝุ่นควันจากการเผาไหม้ที่กระทบกับสุขภาพ แต่ในตอนนี้มีธุรกิจที่เริ่มสนใจนำซากผลผลิตที่เหลือใช้เหล่านี้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าแล้วเช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “เปา มนตรี อุดมฉวี” เจ้าของบริษัท “Smart Bio Plastic” นั้นเอง

จากโปรเจกต์ที่ทำเพื่อจบการศึกษา จนกลายมาเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรอย่าง Smart Bio Plastic ที่ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้ศึกษา มาเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ โดยแปลงโฉมให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ในเวลาเพียงแค่ 180 วัน ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ NIA ได้มีส่วนช่วยต่อยอดให้มีโอกาสเติบโตจนสร้างรายได้ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ซึ่งจะมีบทบาทส่งเสริมความยั่งยืนแบบที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยที่ประเทศไทยตอนนี้ได้เริ่มมีการก่อตั้งเป็นฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพ เนื่องจากเรามีวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำ จนสามารถขึ้นมาเป็นประเทศที่ผลิตพลาสติกชีวภาพได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน


🎉 เตรียมพบกับ “STEAM4INNOVATOR CENTER”  สนามการเรียนรู้ของนวัตกรรุ่นใหม่ ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย ขานรับนโยบาย BCG

นายเองก็เป็น ‘นวัตกร’ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้นะ! เพราะตอนนี้ NIA เตรียมเปิดพื้นที่แล้ว สำหรับการสนับสนุนผ่านโครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมสําหรับเยาวชน” หรือ “STEAM4INNOVATOR CENTER”  ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ 10 โรงเรียนต้นแบบ ตามแนวทางเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ให้เกิดเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ไปสู่การผลิตนวัตกรรมที่หลากหลายตามทรัพยากรแต่ละชุมชน ซึ่ง STEAM4INNOVATOR CENTER จะเป็นการสร้างระบบการเรียนรู้ห้องเรียนนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่สนุกสนาน และตอบโจทย์กับเยาวชน ก่อนจะพัฒนาขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีกในอนาคต

โดยในปีนี้โครงการจะเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ได้ปล่อยของ มาสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ตามโจทย์ BCG ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ โดยชิ้นงานนวัตกรรมยังมีโอกาสถูกนำมาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจ เปิดประตูให้น้องๆ ทุกคนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการตัวจริง ซึ่งต้องบอกว่าทั้ง NIA และคณะกรรมการผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ต่างตั้งตารอชมผลงานที่จะเกิดขึ้นจากสนามการเรียนรู้แห่งนี้ เพราะเราเชื่อว่า ‘เด็กสมัยนี้’ สามารถเป็นนวัตกร ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะมาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปยังทิศทางที่ดีขึ้นได้

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.setsustainability.com/page/environment
https://fti.or.th/2022/12/26/เชื่อหรือไม่-ตดวัว
https://symbrosia.co/seagraze
https://www.youtube.com/watch?v=4p0uy7PceEo
https://www.forbes.com/profile/alexia-akbay/?list=30under30-social-impact&sh=6222c3152f13
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/economic/1057458
https://www.youtube.com/watch?v=4EA0jGeexco
https://www.tcijthai.com/news/2023/14/current/12848