สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

NIA เยี่ยมชมโรงงาน Vantaa Energy Plant หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฟินแลนด์

News 13 ธันวาคม 2567 238

NIA เยี่ยมชมโรงงาน Vantaa Energy Plant หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฟินแลนด์


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนไทย เข้าเยี่ยมชมโรงงาน Vantaa Energy Plant บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยมี คุณ Anna Kandolin เจ้าหน้าที่จาก Vantaa ให้การต้อนรับ
ณ Vantaan Energian Jatevoimala เมืองแวนต้า สาธารณรัฐฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567

Vantaa Energy คือ บริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ บริหารพลังงานและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยการหมุนเวียนอย่างชาญฉลาด ตั้งเป้าจะปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negativity) ภายในปี 2030 Vantaa พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนในฟินแลนด์จะสามารถเข้าถึงพลังงานที่ราคาไม่แพง ปลอดภัย และยั่งยืน รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันและอนาคต

ผังโรงงานของ Vantaa Energy คือการแปรรูปขยะมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยถูกแบ่งออกเป็น 15 ส่วน ดังต่อไปนี้
1. Reception Hall: ห้องโถงรับขยะครัวเรือน ในทุก ๆ วันจะมีรถขนส่งขยะเข้ามาถ่ายเทขยะของเหลือใช้ที่บริเวณนี้ จำนวน 140 คัน ภายในห้องโถงนี้ถูกควบคุมด้วยความดันลบ ซึ่งจะช่วยป้องกันกลิ่นไม่ให้ออกมารบกวนบริเวณภายนอก
2. Waste Bunker: ขยะจะถูกเก็บลึกลงไป 38 เมตรในถังขนาดใหญ่ใต้ดิน ซึ่งจะมีเครนที่ทำหน้าที่ผสมขยะหลากรูปทรงให้เป็นเนื้อเดียวกัน
3. Waste Cranes: เครนอัตโนมัติแต่ละอันจะยกและถ่ายเทขยะไปที่ Feed Hopper ของ Boiler ในทุก ๆ 2 ครั้งต่อชั่วโมง ประมาณ 100 รอบต่อวัน รถเก็บขยะจะขนส่งขยะมาที่โรงงานในช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เพื่อเข้าสู่กระบวนการเผาขยะในเตาเผาในช่วงวันธรรมดาเช่นกัน
4. Grate: ขยะจะถูกเผาไหม้ที่ตะกรับ ด้วยอุณหภูมิมากกว่า 100 °C ใช้เวลาในกระบวนการนี้ประมาณ 2 ชั่วโมง ขยะที่ได้กลายเป็นกาก ตะกรัน และฝุ่นผง จะถูกเก็บในถังขนาดใหญ่ (Slag Bunker)
5. Waste-to-Energy Boiler: พลังงานที่สร้างขึ้นจากกระบวนการเผาขยะจะทำให้น้ำร้อนขึ้น ซึ่งหมุนเวียนในท่อรอบ ๆ หม้อไอน้ำแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy Boiler) ทำให้เกิดไอน้ำที่มีอุณหภูมิ 400°C
6. Gas Turbine: กังหังก๊าซจะผลิตให้กับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
7. Heat Recovery Boiler: ไอน้ำจากหม้อไอน้ำแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy Boiler) จะถูกส่งไปที่หม้อไอน้ำกู้คืนความร้อน (Heat Recovery Boiler) ซึ่งจะได้รับความร้อนจนถึงอุณหภูมิ 535°C โดยใช้ก๊าซไอเสียของกังหันก๊าซ
8. Steam Turbine: ไอน้ำซึ่งมีอุณหภูมิ 535°C จะถูกส่งต่อไปยังกังหันไอน้ำที่ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานไอน้ำหนึ่งในสามจะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า และสองในสามจะเปลี่ยนเป็นความร้อนที่ District Heat
9. Slag: ตะกรันที่เก็บไว้ในถังเก็บตะกรันจะถูกส่งไปยังกระบวนการแยกโลหะ และจะถูกนำไปใช้งาน เช่น ในงานปูพื้นดินและการก่อสร้างกำแพงกันเสียง
10. Cooling Tower: หอหล่อเย็น อุณหภูมิของก๊าซไอเสียจะลดลงโดยการฉีดน้ำเข้าไปในก๊าซไอเสีย
11. Bag Filter: ก๊าซไอเสียจะถูกนำไปยังอุปกรณ์ทำให้สะอาดโดยเติมปูนขาวและคาร์บอนกัมมันต์ลงไปเพื่อดูดซับสิ่งสกปรก สิ่งสกปรกจะถูกเก็บรวบรวมโดยชุดถุงกรองขนาดครึ่งสนามฟุตบอล การทำให้ก๊าซไอเสียสะอาดจะเป็นไปตามข้อกำหนดของใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม
12. Flue Gas Condenser: ในขั้นตอนที่สามของการทำให้สะอาด พลังงานขั้นสุดท้ายที่เหลือจากก๊าซไอเสียจะถูกนำกลับมาใช้ โดยการควบแน่นก๊าซไอเสียให้เป็นน้ำ ซึ่งในกระบวนการควบแน่น อนุภาคและก๊าซกรดที่เหลืออยู่ในก๊าซไอเสียจะได้รับการทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง
13. Chimney: ความบริสุทธิ์ของก๊าซไอเสียที่ออกมาจากปล่องควันของโรงงานได้รับการรับรองโดยด้วยอุปกรณ์วัดค่าความสะอาดที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่องภายในปล่องควัน
14. District Heat: District Heat จะถูกส่งไปยังโครงข่ายความร้อนในเขตเพื่อให้ความร้อนแก่ครัวเรือนและอาคารในเมืองแวนต้า
15. Electrostatic Precipitator: เครื่องกรองไฟฟ้าสถิตใช้สนามไฟฟ้าเพื่อแยกอนุภาคก๊าซไอเสียประมาณ 90% ที่เกิดจากกระบวนการเผาขยะ

ในการนี้ NIA ได้หารือเรื่องการส่งเสริมสตาร์ทอัพในรายสาขาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Climate Tech/Green Tech) ซึ่งเป็นหนี่งในรายสาขาที่มีศักยภาพของประเทศไทยที่ NIA ผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งทาง Vantaa Energy ได้เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากทั่วโลกมาร่วมงาน โดยมองหาโซลูชั่นและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงาน การจัดการขยะ เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตรงกับเป้าหมายของบริษัท ในละปี Vantaa Energy จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพปีละ 1-2 ราย โดยสิ่งที่สนับสนุน คือ เชื่อมต่อเครือข่ายธุรกิจ แลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ การทดสอบตลาดในฟินแลนด์ และให้ทุนสนับสนุน โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Vantaa Energy ได้ที่ https://www.vantaanenergia.fi/.../startup-lets-work.../

#NIA #Vantaa #VantaaEnergyPlant #Startup #Electricity #Energy #Heat #FutureEnergy #ClimateTech #GreenTech #Wastemanagement #Thailand #Finland #Innovation #TeamThailand