สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

“USICA 2021” กฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขัน เพื่อการชิงตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีโลกของสหรัฐอเมริกา

บทความ 29 กรกฎาคม 2564 3,520

“USICA 2021” กฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขัน เพื่อการชิงตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีโลกของสหรัฐอเมริกา


เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 วุฒิสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา 2021 (United States Innovation and Competition Act of 2021: USICA) ด้วยมติเห็นชอบ 68-32 เสียง โดยกฎหมายนี้ถูกเสนอครั้งแรกในปี 2020 จากวุฒิสมาชิกสภา ชัคค์ ชูเมอร์ แห่งรัฐนิวยอร์ก (พรรคเดโมแครต) และวุฒิสมาชิกสภา ทอดด์ ยัง แห่งรัฐอินเดียน่า (พรรคริพับลิกัน) โดยใช้ชื่อว่า Endless Frontier Act (EFA) ซึ่งเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ในสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังมีการรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาในด้านอื่นๆ เข้ามาอยู่ภายใต้ชื่อ “USICA” ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการได้มาซึ่งเงินลงทุนหรือของขวัญจากต่างประเทศ การพัฒนาระบบนวัตกรรมด้านห่วงโซ่อุปทาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบพัฒนาป้องกันประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บางนโยบายภายใต้ USICA ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศโดยตรงแต่กลับคล้ายคลึงกับมาตรการกีดกันทางการค้ากับคู่ค้าบางประเทศ เช่น การห้ามค้าขายหูฉลาม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน


เป้าหมายหลักของ USICA

ภายใต้ USICA รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะมีการอัดฉีดเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างปีงบประมาณ 2022-2026 โดยจะถูกใช้สนับสนุนทั้งโครงการภายในประเทศและระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ USICA เปรียบเสมือนการวางแผนทางกลยุทธ์ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาในการเลือกพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ คล้ายกับที่ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดย USICA จะเลือกสนับสนุนแบบเฉพาะเจาะจง เช่น อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ ระบบโทรคมนาคมหรือระบบอินเทอร์เน็ตบนมือถือ เพื่อรองรับห่วงโซ่อุปทานแบบใหม่ แหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดรน เป็นต้น ซึ่งเห็นได้จากการที่ USICA ได้มีการจัดตั้งผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation: NSF) เพื่อมากำกับดูแลด้านเทคโนโลยีเหล่านี้โดยตรง


การลดอิทธิพลของต่างชาติ

แต่ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ USICA จะเป็นมากกว่านโยบายกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมตามที่รัฐบาลกลางได้วางกลยุทธ์เอาไว้ โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจซึ่งมีข้อห้ามไม่ให้นักวิจัยเข้าร่วมโครงการ “Talent Recruitment” ที่จัดตั้ง จัดการ หรือสนับสนุนด้านการเงินโดยรัฐบาลต่างประเทศเพื่อสรรหาบุคลากรและนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรัฐบาลต่างประเทศที่ถูกรระบุไว้คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาเกรงว่าประเทศเหล่านั้นอาจเข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมากจนเกินไป นอกจากนี้ ยังรวมถึงแนวทางการสร้างบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่สำแดงรายการของขวัญ หรือสัญญาโครงการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยได้รับจากหน่วยงานต่างประเทศ โดยมีการเปลี่ยนมูลค่าขั้นต่ำที่จะต้องสำแดงกับกระทรวงศึกษาธิการจาก 250,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 50,000 เหรียญสหรัฐอีกด้วย (ประมาณ 1,594,500 บาท)


การถ่วงดุลการค้าระหว่างประเทศ

USICA มุ่งเป้าถ่วงดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้กลยุทธ์การสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศในแถบลาตินอเมริกา แคริเบียน แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน ผ่านการลงทุน การให้เงินยืม หรือการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุนของกิจการสัญชาติอเมริกาในกลุ่มประเทศเหล่านั้น USICA ภายใต้กฎหมายการค้า 2021 (Trade Act of 2021) ยังมีการพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์หลักของ USICA เข้ามาด้วย ประเด็นแรกคือ นโยบาย “Made in America” ซึ่งพูดถึงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐว่าจะต้องซื้อเฉพาะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น แต่นโยบายนี้อาจไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากตัวเลขสินค้าที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศคิดเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับการจัดซื้อจัดจ้างจากบริษัทภายในประเทศ (จากงบประมาณปี 2019 มีเพียงประมาณร้อยละ 3.5 ของสินค้าที่รัฐบาลกลางสั่งซื้อถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ) นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “Buy American” ที่กำหนดว่าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลก็ต่อเมื่อเหล็ก เหล็กกล้า สินค้าที่ถูกผลิตขึ้น และวัสดุก่อสร้างทั้งหมดถูกผลิตขึ้นภายในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ ภายใต้ USICA ยังมีนโยบายที่ปกป้องบริษัทในสหรัฐอเมริกาจากการแข่งขันโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น การใช้มาตรา 301 กับสินค้าที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงปี 2022 เนื่องจากผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา สามารถพิจารณาโควตาหรืออัตราภาษีสำหรับสินค้าที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การนำระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) กลับมาใช้เพื่อให้ประเทศรายได้น้อยกลับมาทำการค้ากับสหรัฐอเมริกาแทนที่จะไปทำการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะคืนเงินภาษีให้ทั้งหมดและงดเว้นภาษีไปถึง 1 มกราคม 2027 เช่นเดียวกับระบบภาษีเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Tariff Bill: MTB) ซึ่งจะขยายไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2023 และการออกกฎหมายเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aircraft systems: UAS) หรือ กฎหมายความปลอดภัยโดรน 2021 (American Security Drone Act of 2021) ที่ทำการแบนไม่ให้ภาครัฐทำการจัดซื้อจัดจ้าง UAS ที่ถูกผลิตหรือประกอบโดยบริษัทที่ได้รับอิทธิพลหรืออยู่ในการจัดการของรัฐบาลจีน ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้งานโดรนด้วย โดยจะเริ่มใช้ประมาณปี 2023 เป็นต้น

#USICA #TradeWar4.0 #MadeInAmerica #USAvsChina

แหล่งที่มา

  • https://www.senate.gov/legislative/LIS/roll_call_lists/roll_call_vote_cfm.cfm?congress=117&session=1&vote=00226
  • https://www.aip.org/fyi/2021/halftime-rd-push-senate-passes-endless-frontier-bill
  • https://www.americanactionforum.org/insight/the-united-states-innovation-and-competition-act-usica-a-primer/

โดย กฤษภาส กาญจนเมฆานันต์
       นักกลยุทธ์นวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม
       สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)