สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การให้บริการของ NIA
ความเคลื่อนไหวของ NIA
ช่องทางในการติดต่อกับ NIA
เทรนด์ “การท่องเที่ยว” 2021 เมื่อ COVID-19 ยังอยู่กับเรา
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกการท่องเที่ยวปี 2021 ?
แม้จะยังต้องจับตาดูสถานการณ์ COVID-19 อยู่ตลอดเวลา แต่ความคิดถึงโหยหาการเดินทาง ก็ทำเอานักท่องเที่ยวแสวงหาหนทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้พวกเขากลับไปเดินทางได้อีกครั้ง และยังคงปลอดภัยจากการติดเชื้อ
หนึ่งกระแสที่เห็นได้ชัดเจน นั่นคือ “การเที่ยวในประเทศ” ซึ่งมีตัวเลขนักเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 66% จากช่วงต้นปี 2020 ที่ COVID-19 มาใหม่ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ก็ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีความต้องการเปลี่ยนไปจากเดิม… ว่าแต่ในปี 2021 จะมีอินไซท์แบบไหนที่น่าสนใจกันบ้าง
1) เที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ อิสระแบบไม่ต้องพยายาม
การไปในที่พลุกพล่าน แย่งที่กินที่เที่ยวอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไรในช่วงนี้ นักเดินทางส่วนใหญ่จึงหันไปเลือกเที่ยวแบบสโลวไลฟ์ หลีกหนีจากความวุ่นวาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนวสัมผัสธรรมชาติ ซึมซับวิถีชุมชน โรดทริป ออกป่าตั้งแคมป์ ฯลฯ ซึ่งมีหลายผู้ให้บริการหยิบจุดเด่นแบบนี้มาเป็นจุดขายหลัก เช่น Booking.com ที่ปรับอัลกอริทึ่มในการนำเสนอทริปลูกค้า จากปกติที่มักจะเป็นทริปต่างประเทศ กลายเป็นตัวเลือกสถานที่ Unseen ในประเทศแทน
ขณะเดียวกันเทรนด์ Staycation หรือการเที่ยวใกล้บ้าน ที่ไม่ต้องออกเดินทางไกล แต่เน้นเปลี่ยนบรรยากาศไปพักโรงแรมหรือโฮสเทลใกล้บ้าน ก็กำลังมาแรง ที่พักหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มหันมาโปรโมทบริการ Staycation เพื่อดึงดูดกลุ่มนักเดินทางที่มีเวลาจำกัดและคนที่อยากพักผ่อนแต่ยังต้องหอบงานไปทำด้วย โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กำลังมองหาคือ ประสบการณ์การพักผ่อนเหนือระดับ เช่นแพ็คเกจมัดรวมที่พัก มื้ออาหารสุดหรู บริการสปา รวมถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์แปลกใหม่ ที่อาจไม่มีเวลาได้ไปสัมผัสบ่อยนัก
2) ความปลอดภัยด้านสุขภาพมาเป็นอันดับแรก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวรักสะอาด ห่วงสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าอะไรก็อยากทำด้วยตัวเอง งดการสัมผัส ลดการพบปะให้ได้มากที่สุด โดยที่เห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือพฤติกรรมการใช้จ่ายที่อาจเป็นผลมาจากความกลัวเชื้อโรคที่อาจติดมากับเหรียญกับธนบัตร และหันมาใช้ e-Payment เพิ่มขึ้นถึง 72% ซึ่งปัจจุบันแม้แต่ร้านอาหารข้างทางหลายแห่ง ก็เปลี่ยนมาใช้ QR Scan พร้อมเพย์ หรือ e-Wallet ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา
นอกจากนี้ บางผู้ประกอบการยังนำแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือนวัตกรรมออโตเมชั่นมาใช้ เพื่อลดการใช้คนให้ได้มากที่สุด เช่นโฮสเทลบางแห่งที่ลองใช้ตู้ Self-service Kiosk ให้สามารถ Check in-out รับคืนกุญแจ ชำระค่าห้องได้โดยไม่ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ ห้องอาหารโรงแรมที่ให้ลูกค้ากดสั่งอาหารแทนการใช้บริกร หรือตัวอย่างสุดล้ำเช่นเชนโรงแรม Yotel ที่ใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ขนกระเป๋าให้กับผู้เข้าพักก็มี
3) บริการยืดหยุ่นได้ ฉับไวทุกสถานการณ์
COVID-19 อาจทำให้จุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไปเที่ยวกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงได้ทุกเมื่อ สิ่งที่นักเดินทางปี 2021 จะยิ่งคาดหวังจากคนทำธุรกิจการท่องเที่ยวนั่นคือ เงื่อนไขบริการที่ “ยืดหยุ่น” และสามารถ “ปรับเปลี่ยนได้” เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เช่น การให้ลูกค้าสามารถยกเลิกจองที่พัก หรือปรับเปลี่ยนเที่ยวบินได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเองยังมีความต้องการข้อมูลและบริการติดต่อที่ฉับไว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจึงควรมี “แพลตฟอร์มสื่อสาร” ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ติดต่อ ข้อความ อีเมล โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ที่พร้อมแจ้งข้อมูลและให้บริการลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อรักษาประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ในช่วงที่คุณต้องการคนเหล่านี้มากที่สุด
นี่คือ 3 อินไซท์นักเดินทางปี 2021 ที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ NIA เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้ใครที่กำลังต่อสู้อยู่ในสมรภูมิธุรกิจการท่องเที่ยว ได้ลองนำไปปรับแนวคิดการทำธุรกิจให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคได้มากขึ้นแน่นอน