สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Search
color contrast
Normal
Black & White
Black & Yellow
font size

พลังและศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของผู้หญิงกับความเท่าเทียมในสังคม

9 กุมภาพันธ์ 2566 1,861

พลังและศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของผู้หญิงกับความเท่าเทียมในสังคม 

International Day of Women & Girls in Science

 

“There is no limit to what we, as women, can accomplish (ไม่มีสิ่งใดที่ขวางกั้นผู้หญิงไม่ให้ประสบความสำเร็จได้) - Michelle Obama ภริยาของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 44

 

หากพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจแล้ว เชื่อว่าภาพที่หลายคนนึกขึ้นมาในหัวกว่า 80% คือนักวิทยาศาสตร์ชาย แต่คุณรู้หรือไม่? ในวงการวิทยาศาสตร์แท้จริงแล้ว มีนักวิทยาศาสตร์หญิงจำนวนไม่น้อยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน!

 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล” (International Day of Women & Girls in Science) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมสร้างพลังอำนาจของสตรีและเด็กหญิงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม NIA จึงขอนำเสนอตัวอย่างเรื่องราวของผู้หญิงที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสังคมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

เริ่มกันที่ “มาการ์เร็ต แฮมิลตัน” ผู้อยู่เบื้องหลังการนำมนุษยชาติไปเหยียบดวงจันทร์ด้วยโค้ดของเธอ โดยการเขียนซอฟท์แวร์การบินของยานอะพอลโลของนาซ่าที่ได้ไปดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของโลก เธอเกิดในปี 1936 เป็นนักวิศวกรรมซอฟท์แวร์ชาวอเมริกันที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน โดยใช้ความสำเร็จเป็นหลักฐานและแรงผลักดัน จนสามารถขึ้นมาเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรซอฟท์แวร์ของ MIT ได้สำเร็จ! จากความกล้าและความพยายามทำให้เธอรับเหรียญอิสรภาพ (Presidential Medal of Freedom) เมื่อปี 2016 จากประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อประกาศถึงความสามารถของเธอโดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเพศได้ในที่สุด

มาร์กาเร็ต แฮมิลตัน กับยาน Command Moduleมาร์กาเร็ต แฮมิลตัน กับยาน Command Module

 

“ออซแลม ตูเรจี” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ BioNTech ที่ไม่เพียงเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงเท่านั้น เธอยังเป็นแพทย์ ผู้ประกอบการ และเป็นผู้นำในภาคสุขภาพระดับโลก ในปี 2020 บริษัทของเธอได้พัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด -19 แบบตัดต่อสารพันธุกรรม (mRNA) และได้รับอนุมัติให้ใช้งานเป็นรายแรกซึ่งกลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในปีแห่งวิกฤตการณ์เช่นนี้ และปัจจุบัน BioNTech มีพนักงานมากกว่า 1,300 คน จากกว่า 60 ประเทศ และพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง

Ozlem Tureci“ออซแลม ตูเรจี” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ BioNTech

 

ลองหันกลับมาดูผู้หญิงเก่งในประเทศไทยอย่างเช่น เจนนี่-รมิดา จึงไพศาล” Digital Product Designer และ Frontend Developer หนึ่งในผู้ร่วมสร้างแอปพลิเคชัน “COVID Tracker by 5Lab” ระบบติดตามผู้ป่วยโควิด -19 ของประเทศไทย ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสทั้งหมดที่มีอยู่ และช่วยหยุดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ ตั้งแต่การเริ่มต้นระบาดในประเทศไทย “COVID Tracker by 5Lab” จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาด ขั้นตอนการทำความสะอาด ตลอดจนข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานที่ให้บริการทดสอบหาเชื้อไวรัสและค่าบริการ

“เจนนี่-รมิดา จึงไพศาล” Digital Product Designer และ Frontend Developer, 5Lab

 

ในอดีตโอกาสในการแสดงศักยภาพและความสามารถของผู้หญิงแทบจะไม่ได้รับการพูดถึงหรือยอมรับ แต่เมื่อ “ความเท่าเทียม” กลายเป็นกระแสที่คนในสังคมให้ความสำคัญมากขึ้น บทบาทของผู้หญิงจึงเริ่มมีความโดดเด่นและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้เพียงแค่มีองค์ความรู้เพียงพอที่สร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่า แต่หากยังสามารถประยุกต์ให้งานวิจัยเหล่านั้นเกิดเป็น “ธุรกิจนวัตกรรม” ที่เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ดังนั้น การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในทุกวงการจึงถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของผู้หญิงและเยาวชนหญิงในวงการวิทยาศาสตร์มีเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยที่ก้าวสู่การเป็น “นวัตกรและสตาร์ทอัพหญิง” ที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

 

ในปี 2023 นี้ NIA ได้เปิดหลักสูตร NIA X SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 4 Innovative Woman Enterprise เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหญิงที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จำนวน 40 บริษัท และได้ร่วมมือกับ UNWOMEN ในการส่งเสริมผู้ประกอบการหญิงในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านธุรกิจและนวัตกรรม เพราะ NIA เชื่อมั่นในพลังและศักยภาพของผู้หญิงว่าสามารถเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า และมีความทัดเทียมกับนานาชาติทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแน่นอน

 

“หากจะสามารถจัดการกับความท้าทายมหาศาลในอนาคต จำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ด้วยเหตุผลนี้เอง โลกจะต้องไม่ถูกกีดกันจากศักยภาพ ความฉลาด หรือความคิดสร้างสรรค์ของผู้หญิงหลายพันคนที่ตกเป็นเหยื่อของความไม่เท่าเทียมกันและอคติที่ฝังลึก” Audrey Azoulay อธิบดียูเนสโกกล่าว เนื่องในวันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

ขอบคุณภาพจาก

 

บทความโดย
พรผกาญจน์ แซ่แต้ (ฝน)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)